ธปท.ตื่นเตรียมหารือ”ลิบรา”ร่วมเฟซบุ๊ก พร้อมตั้งทีมศึกษาโดยเฉพาะ

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีการที่เฟซบุ๊กมีการพัฒนาสกุลเงินลิบรา เพื่อนำมาใช้เป็นสกุลเงินดิจิตอลใหม่นั้น ขณะนี้ได้รับการติดต่อกลับจากเฟซบุ๊กโลก เพื่อมาหารือเกี่ยวกับสกุลเงินลิบราร่วมกัน เนื่องจากธปท.ต้องการที่จะศึกษากลไกของสกุลเงินลิบราให้ครบทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย ความเสถียรของระบบกลาง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการนำไปใช้ในแง่การทุจริต รวมถึงการดูแลลูกค้าว่าจะทำผ่านช่องทางใด

“ขณะนี้ไม่ใช่เพียงแค่ผู้กำกับดูแลระบบการเงินเท่านั้นที่ตื่นตัว แต่ผู้ใช้งานเองก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้เหมือนกัน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการตื่นตัวร่วมกันของทั้งโลก เนื่องจากการที่เฟซบุ๊กพัฒนาสกุลเงินลิบรามา ก็เพื่อลดขั้นตอนของการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ การโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ใช้เวลาในการทำธุรกรรมนาน ต้องผ่านคนกลางหลายทอดและมีต้นทุนสูง เฟซบุ๊กจึงพัฒนาสกุลเงินลิบราขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศต่างๆ”นางสาวสิริธิดากล่าว

นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ในส่วนของธปท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสกุลเงินลิบราอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของสกุลเงินดังกล่าวโดยเฉพาะ เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่การโอนเงินระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด จึงต้องมีการศึกษาให้เข้าใจทั้งหมด เพื่อให้บอกได้ว่าจะมีความสุ่มเสี่ยงหรือสามารถใช้งานได้จริง

นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมทางการเงิน “Bangkok Fintech Fair 2019” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคมนี้ ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธปท.จะนำระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เควายซี) ในส่วนที่เป็นการยืนยันตัวตนด้วยชีวภาพ มาเปิดทดลองให้ใช้ภายในงานด้วย ซึ่งปัจจุบันแต่ละธนาคารได้เปิดให้ลูกค้าของตนทดลองใช้ระบบอี-เควายซี ภายในสาขาทั่วประเทศแล้ว โดยถือเป็นระยะแรกของการทำระบบอี-เควายซี ส่วนระยะที่สองจะต้องเชื่อมต่อระบบเข้ากับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (เอ็นดีไอดี) ซึ่งยังไม่สามารถเปิดให้ทดลองใช้งานได้ เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบในการเชื่อมต่อกันข้ามธนาคาร โดยตั้งเป้าว่าระยะที่สองจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้

Advertisement

“ในส่วนของการทำคิวอาร์โค้ดเพื่อเชื่อมต่อระบบทางการเงินทั้งอาเซียน ขณะนี้มีการใช้งานแล้วในลาวและสิงคโปร์ ส่วนกัมพูชาคาดว่าจะใช้งานได้ภายในปีนี้ ส่วนอินโดนีเชียคาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โดยแต่ละประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานแตกต่างกัน กฎหมายไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานพร้อมกันทั้งอาเซียนได้ จึงต้องค่อยๆ ทำในแต่ละประเทศ”นางสาวสิริธิดากล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image