เอกชนมองตอนนี้ยังไม่เหมาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ชี้ไทยมีอุปสรรคมากแล้ว

แฟ้มภาพ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 425 บาท ในขณะนี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะหากเร่งปรับค่าแรงเพิ่มตอนนี้จะเป็นการทำร้ายประเทศไทยมาก เพราะขณะนี้ไทยต้องเผชิญกับอุปสรรครอบตัวอยู่แล้ว ทำให้ตอนนี้คงไม่ใช้จังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปรับขึ้นไม่ได้ เพราะคาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะทำเป็นขั้นบันได ปรับขึ้นเป็นระดับจนถึงเป้าหมายที่จำนวน 425 บาท โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรจะอิงกับสภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงในแต่ละจังหวัดควรจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน ทำให้คณะกรรมการไตรภาคีจะต้องเป็นคนเสนออัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มให้กับแต่ละจังหวัดนั้นๆ ว่าควรจะอยู่ในอัตราเท่าใด

“ขั้นต่อไปก็เป็นการดูว่าการปรับขึ้นค่างานขั้นต่ำนั้น มีผลิตภาพอะไรเพิ่มขึ้นมาตามค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะว่าหากปรับขึ้นค่าแรงแบบมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา ก็อาจจะไม่กระทบกับต้นทุนด้วยซ้ำ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ด้วย ไม่ว่าจะมาในเชิงของด้านทักษะที่เพิ่มขึ้น ได้จำนวนชิ้นงานที่มากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนี้จะทำให้สังคมเดินไปด้วยกันได้ทั้งหมด ปัญหาเรื่องการฉุดรั้งหรือการถูกดิสรัปชั่นต่างๆ ก็จะหมดไป โดยหากสามารถทำให้การปรับขึ้นค่าแรงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันที่มากขึ้น ก็จะไม่สร้างความกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นแค่ด้านเดียว แต่หากปรับขึ้นแค่ด้านเดียว ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นอย่างเดียว ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็จะทำให้เกิดการดิสรัปชั่นขึ้นแน่นอน”นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจนถึง 425 บาทจริง นอกจากแรงงานไทยจะได้รับประโยชน์แล้วอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับแรงงานเพื่อนบ้านของไทยด้วย รวมถึงอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากคงไม่สามารถมีการผลิตสินค้าชนิดใดที่สามารถใช้แรงงานคนจำนวนมากได้เหมือนเดิม เพราะผู้ประกอบการจะต้องพยายามปรับตัวและรับมือกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานคน ซึ่งจะทำให้การนำเครื่องจักรเข้ามาผลิตสินค้าเข้าสู่จุดคุ้มทุนได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจในการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคนได้เร็วขึ้น ถึงแม้ว่าจะต้องลงทุนสูงแต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว หากมีการนำเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นนโยบายทางการเมือง ในอนาคตก็อาจจะมีการใช้นโยบายนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ได้

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เป็นเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างเดียว เนื่องจากจะต้องพัฒนาในด้านต่างๆ มากมายกว่าจะสามารถทำให้ได้คำนี้ขึ้นมา เพราะถึงแม้ตัวเลขชี้วัดระดับโลกของประเทศไทยจะมีอันดับที่ดูดี แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเขาดีกว่าเรามาก อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า รวมถึงมีนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นมากกว่า เนื่องจากเข้าไปแล้วมีโอกาสที่จะทำต้นทุนในการผลิตสินค้าได้ต่ำและขายไปในตลาดที่มีข้อตกลงพิเศษต่างๆ ได้ดีกว่าประเทศไทย

Advertisement

”แม้กระทั่งประเทศไทยเองในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากๆ ก็มีการแนะนำให้ผู้ประกอบการของประเทศไทยย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่ต้องระวังในเรื่องของการนำขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือเทคโนโลยีที่ประเทศไทยทำได้เพียงประเทศเดียวหรือพัฒนาได้มากกว่า ย้ายไปผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเหมือนกับเรานำเทคโนโลยีที่พัฒนามาตลอด 10 ปี ไปให้เพื่อนบ้านใช้ ทำให้อาจจะต้องพิจารณาในการจ้างให้ผลิตวัตถุดิบเป็นชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบที่ประเทศไทยแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีที่พยายามพัฒนามาตลอดหลุดมือไป”นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า อยากฝากการบ้านให้รัฐบาลดูเรื่องความสมดุลย์ การที่ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องใช้วิธีที่มีความสมดุลย์ไม่ใช่ใช้วิธีที่มีความสุดโต่งจนเกินไป เนื่องจากจะกระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนธุรกิจได้เร็ว เหมือนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมากกว่า ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจได้ง่ายมากกว่า

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image