“เรืองไกร” ร้อง “หัวหน้าคสช.” จี้ ใช้ ม.44 ขวาง “อุตตม” นั่งรัฐมนตรี

วันที่ 7 กรกฎาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ส. กล่าวว่า กรณีมีข่าวทักท้วงนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ โดยการอ้างว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการปล่อยเงินกู้ 9,900 ล้านบาท สมัยเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และต่อมานายอุตตม โพสต์โต้ว่านายอุตตมไม่ผิดนั้น เรื่องนี้ผิดถูกอย่างไรนั้น ควรพิจารณาจากพยานหลักฐานและคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเงินกู้ ธ.กรุงไทยเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่า ข้อทักท้วงมีน้ำหนักหรือไม่อย่างไร ข้อแก้ตัวจะฟังขึ้นหรือไม่ขึ้นอย่างไร

นายเรืองไกร กล่าวว่า ทั้งนี้ คดีดังกล่าว เกิดขึ้นสมัยที่นายอุตตมเป็นกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย อยู่ด้วย เรื่องนี้จึงไม่มีใครปฏิเสธได้ และในคำพิพากษาศาลฎีกาหน้า 51 ก็ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นอกจากคณะกรรมการบริหาร จะมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2532 และคำสั่งธนาคารกรุงไทย ที่ ธ. 222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อ ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ข้อ 3.1.3 ข้อย่อย 2 ก. แล้ว คณะกรรมการบริหารยังมีเจตนาช่วยเหลือ ให้จำเลยที่ 19 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวนถึง 9,900,000,000 บาท โดยมิได้รักษาประโยชน์ของ ธนาคารผู้เสียหาย”

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า จากคำพิพากษา คณะกรรมการบริหาร ย่อมหมายความรวมถึง นายอุตตม ด้วย ประกอบกับจากบันทึกถ้อยคำรวม 10 หน้าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2547 นายอุตตม สาวนายน ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ไว้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ดังนั้น กรณีนี้ หากพิจารณาตามพยานเอกสารและคำพิพากษาซึ่งฝ่ายค้านเห็นแล้วต้องตาโตแน่ ประกอบแนวทางที่ หัวหน้าคสช. เคยใช้มาตรา 44 ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐมาหลายกรณี เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องขอให้ใช้มาตรา 44 มาดำเนินการก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา หรือป้องกันไม่ให้นายกฯโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นายเรืองไกร กล่าวตามมาว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น การที่นายอุตตม จะเป็นรัฐมนตรีนั้น จึงต้องพิจารณาก่อนว่า มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามหรือไม่ แต่เพื่อป้องกันไว้ก่อน แทนที่จะรอให้ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ การขอให้ หัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 จึงมีความจำเป็น โดยตนจะนำเรื่องนี้ไปร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตัดไฟแต่ต้นลม ว่านายอุตตม มีความเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) หรือไม่ โดยจะไปยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องฯ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 8 กรกฎาคม เวลา 11.00 น.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image