เอกชนไทยจุกเวียดนามแซงไทย ขอรบ.ใหม่พัฒนาแรงงาน-ชูเทคโนโลยี

เอกชนไทยจุกเวียดนามแซงไทย ขอรบ.ใหม่พัฒนาแรงงาน-ชูเทคโนโลยี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังว่า รู้สึกเป็นกังวล เพราะจากการติดตามตัวเลขของประเทศคู่แข่งของไทย คือ ประเทศเวียดนาม พบว่า มียอดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)ทั้งคำขอและลงทุนจริง ช่วง 5 เดือน(มกราคม-พฤษภาคม2562) ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยประเทศที่เข้าลงทุนหลัก ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ขณะที่การส่งออกก็ขยายตัวมากกว่า 30-40% ขณะที่ประเทศไทยพบว่าต่างชาติยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นหลักแต่ยังไม่มีการลงทุนจริงมากนัก ขณะที่การส่งออกช่วง 5 เดือนก็ยังติดลบถึง 2.7%

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศเนื้อหอมด้านการลงทุนจนเหมือนจะแซงหน้าประเทศไทยแล้ว มาจากความพร้อมด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ทักษะไม่มากค่าจ้างไม่สูงและยังได้อานิสงส์จากการสงครามการค้า(เทรดวอร์)ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้สหรัฐฯหันไปนำเข้าสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี บังกลาเทศ และไต้หวัน ที่ได้อานิงส์จากเทรดวอร์เช่นกัน

“จากผลกระทบจากเทรดวอร์ได้ส่งผลต่อส่งออกของไทยโดยตรง แต่อีกมุมหนึ่งก็จะพบว่านักลงทุนจีนและสหรัฐฯใช้โอกาสนี้ในการแสวงหาประเทศใหม่ๆเพื่อลงทุนและส่งขายในตลาดเดิม ซึ่งไทยก็คาดหวังว่าจะได้อานิสงส์การลงทุนนี้แต่สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนการลงทุุนจะมุ่งไปเวียดนามแทนไทย”นายเกรียงไกรกล่าว

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ทั้งนี้หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็อยากให้กำหนดนโยบายด้านการลงทุนให้ชัดเจนและตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงเพื่อตอบสนองกับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไทยมีนโยบายสนับสนุนแรงงานทักษะสูงควบคู่กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานอยู่ รวมทั้งความต้องการแรงงานทักษะสูงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่ต้องการประมาณ 4.7 แสนรายในช่วง 5 ปีข้างหน้า

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ได้รายงานตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (มกราคม – มีนาคม 2562) พบว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 387 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12% แต่มูลค่าเงินลงทุนรวม 128,903 ล้านบาท ลดลง 36% เมื่อแยกเป็นกลุ่มผู้ลงทุนพบว่า นักลงทุนไทยลงทุนลดลง 18% ต่างชาติ ลงทุนเพิ่มขึ้น 260% และไทยร่วมกับต่างชาติ ลงทุนลดลง 59% สำหรับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image