ทร.พร้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ทร.พร้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

สกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม

อีก 3 เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีพระราชพิธียิ่งใหญ่ เป็นพระราชพิธีที่ว่างเว้นไปนานถึง 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 นั่นคือ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยกำหนดวันที่ 24 ตุลาคม 2562

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือ (ทร.) เป็นหน่วยงานหลักจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่น กรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์ เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการ คอยให้คําปรึกษาและข้อแนะนําการปฏิบัติต่างๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความ “เรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ”

Advertisement

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.ให้ข้อมูลว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคหนนี้ มีเรือพระราชพิธีรวม 52 ลำ แบ่งเป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ที่เหลือเป็นเรือพระราชพิธีอื่นๆ ได้แก่ เรือเอกไชยเหินหาว เรือเอกไชยหลาวทอง ที่เป็นเรือคู่ชัก เรือแตงโม เรืออีเหลือง ตลอดจนเรือรูปสัตว์ต่างๆ เรือดั้ง เรือแซง ใช้กำลังพลจากหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือ จำนวน 2,200 นาย มาประจำเรือพระราชพิธี

“ขณะนี้เรือทั้ง 52 ลำมีความพร้อมแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพเรือบูรณะเรือพระราชพิธี ร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร” ผบ.ทร.ยืนยันความพร้อม

ภาพตอนนำเรือสุพรรณหงส์ มาจอดเทียบท่าราชวรดิษฐ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

Advertisement

ส่วนความพร้อมของกำลังพลในเรือพระราชพิธี ผบ.ทร.บอกว่า ซักซ้อมมาสักพักจนคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยแล้ว จากนี้เหลือเพียงซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นการซ้อม 8 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมเป็นต้นไป และซ้อมใหญ่อีก 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงของขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งจัดรูปขบวนแบ่งเป็น 5 ริ้ว 3 สาย หรืออธิบายง่ายๆ คือขบวนเรือลักษณะธงชาติไทย ที่มีสายนอก สายกลาง และสายใน

“ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคหนนี้ จะมีความคล้ายในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน สมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 คือ ใช้เส้นทางเหมือนกัน เริ่มที่ท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามฯ รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร มีขบวนเรือ 52 ลำเหมือนกัน แต่จะแตกต่างคือ มีการประพันธ์บทเห่เรือใหม่ 3 บท ในการสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลนี้” พล.ร.อ.ลือชัยสรุป

เมื่อพลิกดูตำรา “เสวยราชสมบัติกษัตรา” ของสำนักพิมพ์มติชน ได้ระบุความหมายการเสด็จฯ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังความที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5 ว่า

“…ประเพณีเดิมเห็นจะเสด็จเลียบถึงเมืองที่รายรอบมณฑลราชธานี ต้องเสด็จโดยทางบกบ้าง ทางเรือบ้าง และประทับรอนแรมเป็นระยะไปหลายวัน จนกว่าจะรอบมณฑลราชธานี เพื่อบำรุงความสามิภักดิ์ และให้ประจักษ์พระเดชานุภาพแก่ประชาชนทั้งหลาย ครั้นนานมาเห็นเป็นการลำบากโดยมิจำเป็น จึงย่นระยะทางลงเป็นเพียงเลียบพระนครราชธานี แล้วย่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง คงแห่เสด็จเลียบรอบกำแพงพระนครแต่ทางเรือ ส่วนทางบก เป็นแต่เสด็จเลียบรอบบริเวณพระราชวัง…”

ทั้งนี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 ครั้ง คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2328, รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2454 และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2468

ขณะที่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มิได้มีพระราชพิธีส่วนนี้ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รื้อฟื้นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2525 เนื่องในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี

สำหรับพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี บริเวณหัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง

ตัวเรือพระที่นั่งฯ มีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน ซึ่งคนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือ โดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

โอกาสนี้ ขอเชิญชวนพสกนิกรสวมใส่ชุดสุภาพเรียบร้อย เฝ้าฯรับเสด็จได้ 2 ฟากฝั่งน้ำตลอดเส้นทางเสด็จฯ ร่วมบันทึกอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ไทย

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image