อีไอซีห่วงสงครามการค้าปะทุ เสี่ยงเลวร้ายสุดฉุดส่งออกทั้งปีลบ 3.1% จีดีพีโตแค่ 2.7%

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซีธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยปี2562 อยู่ที่3.1% จากเดิมที่3.3% ผลจากการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐและจีนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกคาดว่าการส่งออกจะติดลบ 1.6% ปรับลงจากเดิมที่ 0.6% ซึ่งช่วง5 เดือนแรก2562 การส่งออกติดลบประมาณ5% โดยจีดีพีที่ระดับนี้ถือเป็นกรณีฐานที่เป็นไปได้ขณะนี้สหรัฐระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ประเมินว่าการส่งออกครึ่งปีแรก2562 จะติดลบ 4.4% และครึ่งปีหลังส่งออกมีโอกาสเป็นบวกจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่1.1%

 “อีไอซีคาดมีโอกาสราว 35% ที่สงครามการค้าสหรัฐและจีนจะกลับมาปะทุและทวีความรุนแรงจะส่งผลต่อการส่งออกไทยเพิ่มอีกกรณีเลวร้ายหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่10% จะทำให้การส่งออกจะติดลบ 2.3% และจีดีพีลดลงมาที่2.9% ส่วนกรณีเลวร้ายที่สุด สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 25% คาดส่งออกติดลบ3.1% ทำให้จีดีพีอยู่ที่เพียง2.7%” นายยรรยง กล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจจีนและหลายประเทศทั่วโลกชะลอตัวลงได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จากเดิม 40.7 ล้านคน อยู่ที่40.1 ล้านคน หรือเติบโตราว 4.8% เป็นการลดลงส่วนใหญ่จากนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ปีก่อนเติบโตเฉลี่ยถึง 7-8% ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการขยายการลงทุนของเอกชนรวมทั้งการชะลอตัวโครงการก่อสร้างใหม่จากมาตรการกำกับดูแลที่อยู่อาศัยใหม่(มาตรการแอลทีวี) ความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ยังกังวลต่อประสิทธิภาพการผลักดันและประสานนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมใหม่ทำให้การลงทุนเอกชนปรับลงมาอยู่ที่ 3.7% จากเดิม3.8% การลงทุนภาครัฐลดลงมาอยู่ที่4.0% จากเดิม5.3% ขณะที่การบริโภคเอกชนคาดได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่ขยายตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นแล้วในไตรมาสที่2 และเพิ่มเติมหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำให้เติบโตที่3.9% จากเดิม3.8% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดเติบโต4.0% และการบริโภคภาครัฐเติบโต2.2% อย่างไรก็ตามคาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จราว2 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรผู้มีรายได้น้อยกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) จะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้เติบโตเพิ่มขึ้นราว0.06% โดยอยากเห็นมาตรการที่มีผลต่อศรษฐกิจในระยะสั้นและควรคำนึงถึงปรับตัวด้านทักษะแรงงานเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพเพิ่มในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image