ก.ล.ต.จัดเสวนา“4รู้กับสินทรัพย์ดิจิทัล”เตือนนักลงทุนก่อนสูญเงินฟรี

วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.30 น. ที่ห้อง 1601 ชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถนนวิภาวดีฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “4 รู้กับสินทรัพย์ดิจิตอล” เพื่อให้ความรู่แก่นักลงทุนและประชาชนที่สนใจ โดยภายใยงานมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนากว่า 100 ราย

นางสาวอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่มาของหลักทรัพย์ดิจิตอล หรือสกุลเงินดิจิตอลต่างๆ รวมถึงโทเคนดิจิทัล ซึ่งออกแบบให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างกันนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศ ต้องพึ่งพาตัวกลางในการดำเนินการค่อนข้างมาก และใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะไปถึงมือผู้รับเงิน รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากการที่ถูกภาครัฐเข้าแทรกแซงค่าเงิน ทำให้เงินในมืออาจจะมากขึ้นหรือน้อยลง ตามที่ภาครัฐแทรกแซงทำให้ค่าเงินแข็งหรืออ่อนค่าลงได้ จึงมีการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลขึ้น เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างกันแทนเงินตราที่มีอยู่

นางสาวอาจารีย์ กล่าวว่า แต่เดิมสกุลเงินดิจิตอลอย่างบิตคอยน์ ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากยังไม่สามารถตรวจสอบขั้นตอนการโอนเงินได้ว่า หากผู้ใช้ที่ 1 โอนบิตคอย์ไปยังผู้ใช้ที่ 2 แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าโอนไปถึงจริง หรือระหว่างทางไม่ได้โอนไปให้ผู้ใช้ที่ 3 หรืออื่นๆ ต่อด้วย จึงได้ทำการพัฒนาระบบด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลแบบเดียวกัน ทำให้การโอนเงินบิตคอยน์จะไม่สามารถโอนซ้ำได้ เพราะจะมีการปฎิเสธจากระบบทันที และจะมีการเก็บข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ รวมถึงการแก้ไขข้อมูลในระบบบล็อกเชน จะไม่สามารถทำคนเดียวได้ จะต้องมีคนหลายคนเข้ามาทำการแก้ไขด้วยกัน จึงมีความปลอกภัยเพิ่มขึ้นจากเดิม

“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอล นักลงทุนจะต้องศึกษาก่อนว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิตอลประเภทใด มีความน่าเชื่อและมีความมั่นคงอย่างไร รวมถึงต้องศึกษาตัวเองด้วยว่ามีต้นทุนเท่าใด เพราะนักลงทุนไทยหลายรายนิยมเลือกลงทุนในหุ้นปั่น ที่มีความผันผวนสูง ทำให้ต้องคุยกับตัวเองก่อนว่าจะยอมรับความเสี่ยงได้หรือไม่ ยอมรับได้เท่าใดหากเงินลงทุนที่ลงทุนไปอาจจะมีโอกาสหายไปได้ทั้งก้อน เพราะสกุลเงินดิจิตอลที่เลือกลงทุนไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าได้อย่างรวดเร็ว”นางสาวอาจารีย์กล่าว

Advertisement

นางสาวสุภา ธรรมธิติวัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคนที่อาศัยชื่อและความน่าสนใจของสินทรัพย์ดิจิตอล เพื่อมาชักชวนให้ประชาชนที่หลงเชื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอลที่กล่าวอ้างว่ามีอยู่ครอบครอง หรือสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงได้ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์นั้นๆ หรืออาจจะกล่าวอ้างชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งความจริงแล้วบุคคลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลที่กล่าวอ้างเลย ทำให้การจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอลประเภทใด ต้องศึกษาให้รู้ชัดเจนก่อนว่า เจ้าของสินทรัพย์นั้นประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอะไร หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเท่าใด หรือโครงการอะไรก็ตามที่กล่าวอ้างถึงนั้นมีจริงหรือไม่ รวมถึงต้องชั่งน้ำหนักตามความน่าจะเป็นและความจริงดูว่า จะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงได้ตามที่ผู้ชักชวนบอกหรือไม่ หากไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็ต้องปฎิเสธทันที เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา

“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอลหรือสินทรัพย์ใดก็ตามแต่ ต้องบอกว่าขนาดสินทรัพย์ที่เป็นสีขาว ที่สามารถบอกรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจของสินทรัพย์นั้นได้ มีที่มาที่ไป และมีความชัดเจนในข้อมูลต่างๆ ยังมีความเสี่ยงที่ผลประกอบการจะไม่ได้ตามเป้า หรือถูกกระทบจากปัจจัยใดได้ จึงไม่ต้องบอกเลยว่าสินทรัพย์ที่เป็นสีดำอย่างสินทรัพย์ดิจิตอล ที่ไม่สามารถจับต้องได้นั้นจะมีความเสี่ยงสูงมากเท่าใด ทำให้หากเลือกที่จะลงทุนแล้วก็ต้องยอมรับความเสี่ยงและผลที่จะตามมาให้ได้ ซึ่งก็ขอให้ยอมรับให้ได้จริงๆ”นางสาวสุภากล่าว

นางสุนิสา ธรรม ภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยมีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมรับให้สกุลเงินดิจิตอลสามารถเป็นเงินตราในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ เพราะตามกฎหมายแล้วยังไม่มีการยอมรับให้สกุลเงินดิจิตอลเป็นเงินตราที่ใช้แทนเงินจริงได้ นอกเหนือจากที่ผู้ประกอบการกับบุคคลจะตกลงในการใช้สกุลเงินดิจิตอลเพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนระหว่างกันเอง ซึ่งตามกฎหมายไทยแล้วมีการยอมรับเงินตราที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้คือ สกุลเงินบาทเท่านั้น

“ความจริงแล้วพรก.สินทรัพย์ดิจิตอลฯ มีออกมาเพื่อกำกับดูแลคนกลาง ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตอล ซึ่งก็เหมือนกับสถาบันทางการเงินหนึ่ง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ซึ่งต้องผ่านคุณสมบัติที่ครบถ้วนของทั้งก.ล.ต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อป้องกันการนำสินทรัพย์ดิจิตอลมาใช้ในการฟอกเงิน”นางสุนิสากล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image