กรุงไทยแนะเก็บภาษีแลกเปลี่ยนเงินสกัดเก็งกำไรบาท ชี้ลาตินอเมริกาเก็บ10-15%

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น โดยปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นฐานนอกประเทศที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน(NRBS) และบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั่วไป(NRBA) เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ และยกระดับการรายงานข้อมูลถือครองตราสารหนี้ไทยของต่างชาติเพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด โดยให้รายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง โดย ธปท. ออกมาเพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท นั้น อาจจะแก้ไม่ถูกจุดมากนัก

นายจิติพล กล่าวว่า เป็นเพราะสถานการณ์ปัจจุบันเงินทุนที่ต่างชาติไหลเข้ามาเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทย จากการที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจจะเห็นผลจากมาตรการในระยะสั้นทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ประเมินว่าผลของการปรับลดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA อาจจะไม่มากนัก เพราะปกติจะไม่มียอดคงค้างจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในส่วนที่ให้รายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง อาจจะช่วยชะลอการธุรกรรมใหม่ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะต้องรายงานข้อมูลมีความละเอียดมากขึ้น

“ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการมองต่างมุมของตลาดกับธปท. ส่วนของตลาดมองว่าดอกเบี้ยสหรัฐกำลังลด ทำให้มีเงินไหลออกจากดอลลาร์สหรัฐไปยังสกุลเงินอื่น วิธีการแก้ปัญหาจึงควรเป็นการส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัดเจนขึ้นว่าสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่ ธปท. คิดคือมีคนเข้ามาเก็งกำไรผิดปรกติทำให้บาทแข็ง และมาตราการดูแลค่าเงินแบบเดิมๆ ผ่านการแทรกแซงกำลังถูกทางการสหรัฐจับตา จึงต้องออกมาตราการแบบใหม่ สุดท้ายจึงมาจบที่มาตราการในลักษณะควบคุมเงินทุนไหลเข้า แต่ปัญหาคือนโยบายลักษณะนี้ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งธปท. ก็เคยทำแบบนี้มาแล้วในปี 2560 หลังจากนั้นเงินบาทก็แข็งค่าต่อ โดยมาตรการที่ควรนำมาใช้เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท คือ การเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะบางครั้งช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า อาจจะมีผู้ถือเงินดอลลาร์สหรัฐ และผู้ส่งออกก็เข้ามาแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐสร้างแรงกดดันต่อเงินบาทเพิ่ม

“อาจจัดเก็บ 10-15% ของมูลค่า อย่างที่ประเทศในลาตินอเมริการมีการจัดเก็บ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทแข็งค่าได้ และจะทำให้ผู้ส่งออกมีการถือเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น” นายจิติพล กล่าว

Advertisement

นายจิติพล กล่าวว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะสั้นคาดอยู่ในกรอบ 30.60-31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าสิ้นปีค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้อยุ่ที่ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องการคาดการร์การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนอาจจะชะลอตัวลง คาดเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2562 ขยาตัว 6.2% จากไตรมาสแรกขยายตัว 6.4% รวมทั้ง ความเชื่อมั่นจากรัฐบาลใหม่ของไทยที่เข้ามาบริหารประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image