วังจันทร์ วัลเลย์ มุ่ง‘สมาร์ทซิตี้’ หนุน‘อีอีซีไอ’

ก้าวสู่ปีที่ 3 สำหรับนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา นโยบายสำคัญเพื่อพลิกโฉม ประเทศของรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” และกำลังเดินหน้าต่อเนื่องภายใต้รัฐบาล “ประยุทธ์ 2”

กับภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ ประเทศไทยต้องผลักดันให้อัตราการขยายตัวของการลงทุนเพิ่มเป็น 10% ต่อปี อัตราการขยายตัวของประเทศยกระดับสู่ 4-5% ต่อปี และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นเพียงพอที่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศพัฒนา ในปี 2575

กลไกหนึ่งในการพัฒนา “อีอีซี” ให้สำเร็จตามเป้าหมาย คือ การพัฒนา เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) พื้นที่ 2,000-3,000 ไร่ ใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ที่สำคัญของประเทศ ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมของไทย ผู้รับผิดชอบสำคัญ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ดูแลและพัฒนาพื้นที่

ปัจจุบัน ปตท.ได้สร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย คือ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ก่อนแล้ว การผลักดัน “อีอีซีไอ” จึงสอดรับทันที

Advertisement

“อีอีซีไอ” เน้นการพัฒนากลุ่มนวัตกรรมขนาดใหญ่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ไบโอโพลิส อริโพลิส และ สเปซ อิโนโพลิส มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างลงตัวของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ รองรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดการไปสู่การใช้งานจริง

พร้อมทั้งเปิดให้เช่าพื้นที่ระยะยาวเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมของบริษัท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงสุด

ทั้งนี้ การจะพัฒนาอีอีซีไอให้เกิดความลงตัวมากขึ้น จะต้องพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ เกิดความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ทั้งที่พักอาศัย การเดินทาง เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันของคนในพื้นที่ ผ่านโครงข่ายการเชื่อมโยงหลักและระบบอย่างอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์

Advertisement

ล่าสุด ปตท.เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในที่ แอสเพิน สมาร์ทซิตี้ ประเทศออสเตรีย และ เกรอโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส โดยสมาร์ทซิตี้ในประเทศฝั่งยุโรปนั้น เป็นผลมาจากข้อกำหนดของสหภาพ (อียู)
กำหนดให้แต่ละเมืองใหญ่จะต้องมีสมาร์ทซิตี้ เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะเรือนกระจก

สำหรับ “แอสเพิน สมาร์ทซิตี้” ห่างจากกรุงเวียนนาประมาณ 15 กิโลเมตร พื้นที่ 1.5 พันไร่ ถูกออกแบบให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยลดการแออัดของกรุงเวียนนา รองรับประชากรมากกว่า 3 หมื่นคน และเตรียมเปิดให้ชาว
ต่างชาติเข้าอาศัย เริ่มพัฒนาเมืองปี 2550-2572 ปัจจุบันพัฒนาแล้ว 30%

ภายในเมือง “แอสเพิน” มีโรงเรียน โรงพยาบาล ออฟฟิศ ศูนย์วิจัยและพัฒนา มีพื้นที่การค้าเชิงพาณิชย์ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองได้ตลอดโดยไม่ต้องออกจากไปไหน เพราะใช้ดิจิทัลในการซื้อขายสินค้า นอกจากนี้ ยังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใช้เอง มีระบบการคมนาคมสะดวก รถไฟฟ้าเชื่อมต่อเมือง ส่งเสริมจักรยาน รถยนต์ไฟฟ้า พื้นที่สีเขียว

ขณะที่เมือง “เกรอโนเบิล” ตั้งอยู่ในใกล้เทือกเขาแอลป์ ในประเทศฝรั่งเศส มีการพัฒนาจากการวางรากฐานด้านการวิจัยและการศึกษาโดยคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีการวางแผนระบบสาธารณูปโภครวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย มีการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำรถรางมาใช้ ลดการใช้รถยนต์ ส่งเสริมใช้จักรยาน และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง

มีการจัดตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนและสถานการศึกษา เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพเข้ามาใช้บริการห้องแล็บของบริษัทเอกชนรายใหญ่เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ปัจจุบันมีนักวิจัยอาศัยประมาณ 2.5 หมื่นคน และนักเรียนนักศึกษา 6.2 หมื่นคน

เอริค เพิล ผู้ว่าการเมืองเกรอโนเบิล ให้ข้อมูลว่า เกรอโนเบิลเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อราว 200 ปีก่อน แต่หลังจากเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาเมืองสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ใช้คนเป็นตัวนำเทคโนโลยี ปัจจุบัน เกรอโนเบิล เป็นเมืองน่าอยู่ของโลก และเป็นศูนย์กลางงานวิจัยอันดับ 2 ของฝรั่งเศส และอันดับ 5 ของโลก

“ภายในเมืองเกรอโนเบิล ยังประกอบด้วย ไจแอนท์ อินโนเวชั่น แคมปัส สถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมในหลายสาขา อาทิ ไมโครและนาโนเทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกจะถูกนำมาต่อยอดในการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ใน ไจแอนท์
อินโนเวชั่น แคมปัส ที่แบ่งเป็นโซนมีทั้งที่อยู่อาศัย สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน” ผู้ว่าการเมืองเกรอโนเบิลให้ข้อมูล

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ปตท.มีการศึกษารูปแบบสมาร์ท ซิตี้ของเมือง “เกรอโนเบิล” และ “ไจแอนท์” จะนำมาปรับใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซีไอซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

“ขณะที่โมเดลของ แอสเพิน สมาร์ทซิตี้ อาจปรับใช้ในโครงการศูนย์กลางบางซื่อที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดูแล เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ เพราะมีระบบรางเชื่อมถึงและอยู่ในพื้นที่สีเขียวทั้งสวนรถไฟ สวนจตุจักร และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ขณะนี้รอผลสรุปขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) และ ปตท.ก็รอ รฟท.ชวนให้เข้าไปร่วมพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” ชาญศิลป์ระบุแนวทางพัฒนาสมาร์ทซิตี้

ด้าน หงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ปตท. ระบุว่า การพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ของยุโรปใช้เวลาพัฒนานับ 100 ปี ขณะที่ไทยเพิ่งมีการพัฒนาแค่ 1-2 ปีนี้เอง สำหรับอีอีซีไอจะเห็นผลใน 10 ปีข้างหน้า

ล่าสุด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คาดว่าจะเสร็จปี 2563

ขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563-64 และเร็วๆ นี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี จะเช่าที่เพื่อทำโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟลอยน้ำ ขนาดรวมประมาณ 2 เมกะวัตต์ และยังมีพันธมิตรที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมในอนาคต อาทิ หัวเว่ย กลุ่มจีอี Schneider

หาก “อีอีซีไอ” เป็นไปตามเป้าหมาย จะเป็นกลไกสำคัญทำให้ “อีอีซี” ก้าวสู่ความสำเร็จโดยเร็วเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image