‘รมว.ดีอี’ ฟิตเปรี๊ยะ!! มอบแนวทางการทำงาน ขีดเส้นหน่วยงานในสังกัด ส่งการบ้านภายใน 10 วัน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังมอบแนวทางการทำงานร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ว่า ได้ให้นโยบายเบื้องต้นในการทำงานร่วมกันว่า ภาระหน้าที่ของกระทรวงดีอีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายและการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน จะเดินหน้าสานต่อแนวนโยบายในด้านต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไว้ แต่ส่วนที่จะเพิ่มเติม คือ จากนี้ไปต้องการให้กระทรวงดีอี เป็นกระทรวงที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีโครงการที่สามารถจับต้องได้ และเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีผลด้านการอำนวยความสะดวก การบริการ การให้ข้อมูลต่างๆ โดยจะส่งเสริม สนับสนุนความสัมพันธ์ในการใช้งานดิจิทัลให้กับประชาชนให้มากขึ้นในหลายมิติ

“ให้เวลาไม่เกิน 10 วัน หรือภายในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง เสนอสิ่งที่แต่ละหน่วยงานต้องการให้เร่งดำเนินการ ทั้งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ และเป็นปัญหาต่อหน่วยงาน โดยส่วนตัวคิดว่า การทำงานลักษณะนี้ในเบื้องต้นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานก่อน จากนั้นจะนำมารวบรวมข้อมูล เพื่อสรุปเป็นข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ของกระทรวง เสนอไปยังสำนักงบประมาณ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ให้กรอบแนวทางการทำงานแก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะต้องลงในรายละเอียดเพิ่มเติม ว่า จะมีโครงการใดบ้าง มีหน่วยงานใดบ้าง หรือมีรูปแบบใดบ้างที่สามารถผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเกี่ยวพันในด้านเศรษฐกิจ เช่น การเงิน อาทิ คริปโตเคอเรนซี่ การแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ทันสมัย แม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่า สกุลเงินดิจิทัลดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อยต้องให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้

Advertisement

2.สังคมดิจิทัล โดยจะส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (วัน สต๊อป เซอร์วิส) และกรอบแนวทางการพัฒนาการให้บริการเบ็ดเสร็จของภาครัฐ ที่รวบรวมข้อมูลอยู่ในที่เดียว เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน และ 3.ความมั่นคงดิจิทัล โดยจะผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน หรือศูนย์ป้องกันการหลอกลวง และการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์) เนื่องจากปัจจุบันข่าวปลอมมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นข่าวที่สร้างความเสียหาย มีผลกระทบด้านลบ และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาว่า ในกรอบของกระทรวงดีอี สามารถดำเนินการได้อย่างไร โดยอาจจะเริ่มจากข่าวปลอมที่เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ภัยพิบัติ อุทกภัย การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น เพื่อให้มีความถูกต้องแม่นยำ

“คิดว่า มิติของกระทรวงดีอีจากนี้ คงต้องผลักดันและเน้นในเรื่องความทันสมัย ความทั่วถึง และความเท่าทัน การใช้ข้อมูลดิจิทัล หากใช้ถูก รู้ทัน จะเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากรู้ไม่ทันหรือรู้ช้า ก็จะตกเป็นภัยหรือเป็นเหยื่อของผู้รู้มากกว่า ที่นำไปใช้ในการหลอกลวง แต่จะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องมีการหารือร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงก่อน แต่ทั้งหมดจะต้องเป็นการทำงานที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และมีส่วนที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา แม้ขั้นตอนการดำเนินการของกระทรวงอาจมีความล่าช้า แต่ละพยายามดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image