ความขัดแย้งญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

หลังปิดการประชุมสุดยอด G20 ที่โอซากา ญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เปิดศึกการค้าโดยจำกัดการส่งออกไปเกาหลีใต้ซึ่งชิ้นส่วนอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor parts) เพื่อเป็นการแก้แค้นเกาหลีใต้ในประการที่ได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดใช้ค่าจ้างแรงงานในสงครามโลกครั้งที่ 2

การจำกัดการส่งออกย่อมถือเป็นการคว่ำบาตร

นับตั้งแต่ 1945 ถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้เปิดศึกกับโลกภายนอก

เป้าหมายคือต้องการโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม

Advertisement

กรณีนี้เป็นการใช้ช่องทางการค้าเป็นเครื่องมือมาทำการตอบโต้ข้อพิพาททางการเมือง

บัดนี้ เหตุการณ์เช่นนี้กำลังระบาดไปทั่วโลก

รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้การส่งออกชิ้นส่วนกึ่งตัวนำทุกรายต้องยื่นคำร้องขออนุมัติทุกครั้งที่มีการซื้อขาย โดยต้องใช้เวลาพิจารณานานเกินเหตุ จนกลายเป็นการจำกัดการส่งออกโดยปริยาย

Advertisement

“ซัมซุง” ของเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิต “แผ่นไมโครชิป” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ญี่ปุ่นมีชิ้นส่วนหลัก 3 ชนิดสำหรับประกอบ “แผ่นไมโครชิป” ส่วนแบ่งตลาดโลก 90%

ชิ้นส่วนหลักที่ญี่ปุ่นมีอยู่คือสิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการ

ไม่ว่าการผลิตอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ไม่ว่าการผลิตแผ่นไมโครชิป ไม่ว่าการผลิตโทรศัพท์มือถือ ล้วนต้องอาศัยชิ้นส่วนหลักนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

การคว่ำบาตรของญี่ปุ่นครั้งนี้ สืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลสูงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว โดยสั่งให้ธุรกิจญี่ปุ่นชดใช้ค่าจ้างแรงงานเกาหลีใต้จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นหยาดเหงื่อแรงงานของทหารที่ได้ถูกบังคับให้ไปญี่ปุ่น รัฐบาลเห็นพ้องคำพิพากษาของศาลสูง จึงทำการริบทรัพย์สินของธุรกิจญี่ปุ่นที่มีส่วนพัวพันกับคดีใช้แรงงาน

การที่ญี่ปุ่นทำการคว่ำบาตรครั้งนี้ ย่อมต้องถือว่าเป็นการตอบโต้

จึงเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศเข้าสู่ภาวะ “แช่แข็ง” อีกวาระหนึ่ง

กาลอดีตญี่ปุ่น-เกาหลีใต้มีปัญหาขัดแย้งเรื่องดินแดน และมีประเด็นเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายเกี่ยวกับการข่มขืนใจให้สตรีขายบริการทางเพศในเหล่าทัพ จนเกิดการโต้แย้ง เป็นเหตุให้การเจรจาการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ที่ดำเนินอยู่ขณะนั้นต้องยุติลงกลางคัน

ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ มีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย กระทั่งล่าสุดญี่ปุ่นได้ทำการ “ลงดาบ” ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเกาหลีใต้โดยจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนกึ่งตัวนำ

เป็น “ดาบ” ที่ฟันตรง “เส้นเลือดใหญ่” ของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเกาหลีใต้

การที่ญี่ปุ่นตอบโต้เกาหลีใต้ครั้งนี้ ดูประหนึ่งว่า มีนัยเกินเลยสงครามการค้าทั่วไป

หากเป็น “สงครามอันปราศจากควันปืน”

ย้อนมองอดีต ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นใช้กลยุทธ์ทางการทูต หลักประกันความปลอดภัย และการค้า รวมเป็น “3 in 1” ใน 1 ขวด เสมอแชมพูสระผม ทำการกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อนานาประเทศ จนบรรลุเป้าหมาย จึงยุติปฏิบัติการ

เวลาผ่านมา 74 ปี ญี่ปุ่นเปิดศึกใหม่ขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง อุปมาเหมือนใช้เวทมนตร์คาถาบทใหม่ทำการลงดาบ “ดาบแรก” คือเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตร

การที่ “ชินโสะ อาเบะ” นายกรัฐมนตรี “เปิดศึก” กับเกาหลีใต้ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนญี่ปุ่นอย่างถล่มทลาย แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านก็มีความเห็นพ้อง

สรุปคือ คนญี่ปุ่นทั่วประเทศย่ำใจร่วมกันถล่มเกาหลีใต้อย่างสาแก่ใจ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะจิตใจของคนญี่ปุ่น อันเปี่ยมด้วยความเจ็บแค้นเคืองโกรธฉันใด

ดาบแรกของ “อาเบะ” อุปมาเหมือนกับ “ดึงผมเพียงเส้นเดียวทำให้สั่นไปทั้งตัว”

ก็เพราะเป็นเหตุกระทบถึง “ห่วงโซ่การผลิต” ของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทั่วโลก

วันนี้ ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ขบวนการผลิตดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น

โทรศัพท์ iPhone 1 เครื่อง การวิจัยและพัฒนา อยู่ที่สหรัฐ การผลิตชิ้นส่วนและการประกอบดำรงอยู่ภายใต้ระบบห่วงโซ่ เกี่ยวโยงทั่วโลก

ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์กึ่งตัวนำของเกาหลีใต้จำหน่ายทั่วโลก การคว่ำบาตรของญี่ปุ่นครั้งนี้ ย่อมต้องมีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกเช่นกัน

การคว่ำบาตรเกาหลีใต้ครั้งนี้ ดูเหมือนญี่ปุ่นเลียนแบบสหรัฐ ในการใช้กลยุทธ์สงครามการค้ามาแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง

เป็นพฤติกรรมอันมิชอบด้วยหลักคุณธรรม

เนื่องจากทัศนคติของประชาคมโลกยังพร่องด้วยดุลยภาพทางพื้นฐานแห่งความร่วมมือ ดังเห็นเป็นประจักษ์ถึงความอ่อนแอของประเทศส่วนใหญ่ จึงมากด้วยปัญหาและเป็นเหตุให้ประเทศที่มีพลังมากกว่า สามารถตัดขาดห่วงโซ่การผลิตได้อย่างง่ายดาย

การใช้กลยุทธ์ทางการค้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างประเทศเบอร์ใหญ่ ย่อมต้องรู้ว่าที่ใดคือ “จุดตาย” ของฝ่ายตรงข้าม เช่น

สหรัฐเป็นเจ้าแห่งวงการ “แผ่นไมโครชิป” สามารถสกัด 5G ของ “หัวเว่ย” และยึดหัวหาดตลาดโลก จีนซึ่งเป็นผู้ผูกขาดแร่ “rare earth” ของตลาดโลก จึงใช้เป็นมาตรการตอบโต้สหรัฐ เกาหลีใต้ซึ่งต้องพึ่งญี่ปุ่นด้านชิ้นส่วนอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor parts) ปริมาณการซื้อสูง จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกดดันรถยนต์ และเครื่องสำอางที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

เป็นการถ่วงดุลทางการค้า และถ่วงดุลอำนาจอีกโสตหนึ่ง

ท่ามกลางภาวะความร่วมมือของประชาคมโลกล้มเหลว

น่าเชื่อว่า ในที่สุดบรรดาผลประโยชน์ก็ต้องตกแก่ประเทศอำนาจอธิปไตย

วันนี้ ปฏิบัติการของสหรัฐและญี่ปุ่นต่อคู่กรณี ไม่ว่าการจำกัดการส่งออก ไม่ว่าการสกัดความก้าวหน้าทางการค้า ไม่ว่าการคว่ำบาตรทางธุรกิจ ไม่ว่าการทำสงครามการค้า

ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า เป็นการแข่งขันชิงชัยของประเทศอำนาจอธิปไตย

เป็นกลยุทธ์ชิงดีชิงเด่นของประเทศเบอร์ใหญ่

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image