‘สภาอุตฯ’ ถก ‘สมคิด’ วอนรัฐเร่งเครื่อง 3 เรื่องสำคัญ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มีการหารือด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนได้นำเสนอ 3 เรื่อง ต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม จากเงินบริจาคของภาคเอกชนในสภาอุตสาหกรรม วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อลดการพึ่งพางบประมาณของภาครัฐ สำหรับช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงสตาร์ทอัพรายใหม่ ทั้งในและนอกสภาอุตสาหกรรม แต่เบื้องต้นจะพิจารณาจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรกก่อน โดยจะมีการจัดอบรมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีภาครัฐสนับสนุน ด้านสิทธิประโยชน์ คือ ผู้บริจาคเงินเข้ากองทุน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ตามระเบียบของกรมสรรพากร

นายเกรียงไกร กล่าวว่า 2.จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อที่จะร่วมหารือ ทราบความคืบหน้า และช่วยกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ไปพร้อมกัน และ 3.การประชุมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ 2-3 เดือน 1 ครั้ง ซึ่งเดิมมีการจัดการประชุมอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยอยู่ในอันดับประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนสําคัญจากขั้นตอนในการเริ่มต้นธุรกิจ อาทิ การจดทะเบียนและการขออนุญาตในขั้นตอนต่างๆ ที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ช่วยให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ทำงานได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุน และลดความซ้ำซ้อนลงไปได้

“ทั้ง 3 เรื่อง อยากให้เร่งขับเคลื่อนเพื่อเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม หากมีการพิจารณาเห็นชอบในหลักการสามารถอนุมัติได้ทันที ภาครัฐเพียงออกมาตรการจูงใจให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ส่วนเรื่องการประชุม กรอ. นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากเห็นชอบ หรือจะมีการจัดการประชุมร่วมกันเพิ่มเติมเป็นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ก็จะเป็นการดี ส่วนการประชุมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจนั้น เป็นนโยบายเดิมที่ทำอยู่แล้วและทำได้ดี ภาคเอกชนเพียงเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการต่อ ฉะนั้น จึงสามารถขับเคลื่อนได้ง่าย” นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่า จากภาวะเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้ที่มีความผันผวน ทั้งจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้มีการเพิ่ม และพัฒนาทักษะความรู้ให้กับบุคลากร เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่ยุค 4.0 ได้ในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสินค้าเกษตรมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนได้เร่งดำเนินการอยู่เดิมแล้ว โดยต่อจากนี้จะเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ การปรับวิธีการผลิตใหม่ ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image