สรท.ชี้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนต่อ แถมยังไม่เห็นสัญญาณอ่อนค่าง่ายๆ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทน่าจะยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันระบบการเงินโลกมีการพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจ ที่มีการใช้เครื่องมือทางการเงิน อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือลง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับค่าเงินในหลายประเทศ จึงส่งผลให้ค่าเงินเกิดความผันผวนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงปัจจัยในประเทศไทยเอง เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้นักลงทุนมีความต้องการถือครองสูงมากขึ้น จึงเป็นส่วนหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการสกัดเงินร้อนที่จะเข้ามานั้น ถือเป็นมาตรการเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากหาก ธปท.เห็นถึงความผิดปกติบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็คงจะใช้เครื่องมืออื่นเข้ามาจัดการ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการจัดการให้มากขึ้น โดยหาก ธปท.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็เป็นมาตรการที่เอกชนคาดหวังจะได้เห็น เพราะนอกจากจะช่วยให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย เพราะทำให้อัตราเงินกู้ลดลง เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่กำลังวางแผนปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ ซึ่งขณะนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพราะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง

“แนวโน้มในระยะสั้นยังไม่เห็นสัญญาณที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงได้ แต่การที่ ธปท.ออกมาตรการสกัดกั้นเงินร้อน ที่อาจจะเข้ามาพักหรือทำกำไรในตลาดทุนไทยแบบนี้ มีผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนมากพอ เพราะความจริงแล้วมาตรการที่ออกมา ลดวงเงินการถือครองไม่มาก แต่พ่วงท้ายมาด้วยว่า จะจับตาดูความเคลื่อนไหวการไหลเข้าและออกของกระแสเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ทำให้มีผลกับจิตวิทยานักลงทุนต่างชาติสูงมาก ทำให้คนที่ต้องการนำเงินเข้ามาทำกำไรในตลาดทุนไทยชะลอการกระทำลง ซึ่งมีผลในเชิงของการลงทุนระยะสั้น แต่หากเป็นการลงทุนระยะยาวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร” นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ความผันผวนของค่าเงินโลก ธปท.อาจจะทำอะไรมากไม่ได้นัก ดังนั้น สรท.จึงได้ร่วมมือกับ ธปท.ในการช่วยเหลือภาคเอกชนมากขึ้น โดยจะช่วยเหลือ 3 ด้าน คือ การทำประกันความเสี่ยงสินค้าส่งออก ซึ่ง สรท.ได้เสนอให้ ธปท.ช่วยหาอัตรากลางในการทำประกัน เพราะธนาคารแต่ละแห่งกำหนดอัตราไม่เท่ากัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดเป็นราคาต้นทุน เพื่อเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาขายสินค้าได้ พร้อมกับจะมีการอนุญาตให้เปิดบัญชีในรูปแบบเงินตราต่างประเทศหลายสกุลเงิน เพื่อรับเงินตราเข้ามาและสามารถใช้สกุลเงินเหล่านี้ใช้จ่ายได้ด้วย รวมถึง ธปท.จะเดินหน้าทำสัญญาข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับต่างประเทศให้มากขึ้น ในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้มีใช้แล้ว 5 สกุลเงิน คือ 1.จีน-หยวน 2.มาเลเซีย-ริงกิต 3.อินโดนีเซีย-รูเปียห์ 4.ลาว-กีบ และ 5.ญี่ปุ่น-เยน

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image