บทความ : พนักงานอัยการกับคดีแพรวา โดย : คณิต ณ นคร

หนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562 พาดหัวข่าวตัวโตว่า

แม่ ดร.เป็ด วอน “แพรวา” ชดใช้ตามศาลสั่ง เผย 9 ปีไม่เคยติดต่อ ยธ. สั่งเร่งบังคับคดี มธ.เคลื่อนช่วยทวง

ส่วนหนังสือพิมพ์ “Bangkok Post” ประจำวันเดียวกัน ก็พาดหัวข่าวตัวโตเช่นกันว่า

“Searching for justice Horror crash case revived 9 years later”

Advertisement

ข้อเท็จจริงของคดีนี้มีว่า น.ส.อรชร หรือแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขณะเกิดเหตุมีอายุเพียง 16 ปี ยังไม่มีและยังไม่อาจมีใบอนุญาตขับรถยนต์ ได้ทำการขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคของผู้อื่นบนทางด่วนโทลล์เวย์ด้วยความเร็วสูง เฉี่ยวชนรถตู้โดยสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ และบาดเจ็บอีกหลายคน เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2553

ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง น.ส.อรชร หรือแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นจำเลย ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทให้ผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บและฐานอื่น ในที่สุดศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย แต่ให้รอการลงโทษไว้ และคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้ว

แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกร้องกันในเรื่องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งนั้น คดีได้ถูกนำขึ้นไปศาลสูงจนถึงชั้นศาลฎีกา และศาลฎีกาได้พิพากษาให้มีการชดใช้เหยื่อจำนวน 24 ล้านบาท โดยศาลฎีกาได้พิพากษาแก้ค่าเสียหายในส่วนขาดไร้อุปการะที่ศาลอุทธรณ์มองว่า นางนฤมล คนขับรถตู้มีส่วนประมาทอยู่บ้างย่อมถือว่ามีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายแต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน คดีในส่วนนี้จึงถึงที่สุดเช่นเดียวกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องในทางแพ่งนี้ยังไม่มีการชดใช้ใดๆ ทั้งสิ้น จนกลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อผู้เขียนได้อ่านข่าวเรื่องนี้แล้ว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคดีอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดชลบุรีในขณะที่ผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

เรื่องราวของคดีที่จังหวัดชลบุรีมีว่า นายตำรวจยศชั้นนายพันตำรวจคนหนึ่งมีลูกชายสองคน คนโตอายุ 12 ปี ส่วนน้องชายอายุ 7 ปี วันเกิดเหตุลูกทั้งสองได้เล่นโปลิสจับขโมยกัน แล้วลูกคนโตได้เข้าไปซ่อนตัวในห้องนอนของพ่อ และไปพบปืนพกกระบอกหนึ่งซ่อนอยู่ใต้หมอนในห้องนอนของพ่อ จึงได้ใช้ปืนพกกระบอกนั้นเล็งไปที่น้องชาย โดยเข้าใจว่าไม่มีกระสุน แล้วเหนี่ยวไกปืน เป็นเหตุให้น้องชายถูกยิงถึงแก่ความตาย

เมื่อผู้เขียนได้ทราบเรื่องดังกล่าวนี้ทางหนังสือพิมพ์ ผู้เขียนจึงได้ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนคดีเรื่องนี้มาให้ผู้เขียนทราบก่อนที่จะดำเนินการต่อไป

ครั้นเมื่อผู้เขียนได้อ่านสำนวนคดีนี้แล้ว เห็นว่าพี่ชายได้กระทำความผิดฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งพนักงานอัยการต้องฟ้องต่อไป และผู้เขียนเห็นว่าพ่อของเด็กที่จะถูกฟ้องก็กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ลูกคนเล็กถึงแก่ความตายในความผิดฐานเดียวกันด้วย

แต่ผู้เขียนเห็นว่าการสูญเสียลูกคนเล็กก็หนักหนาสำหรับพ่อของเด็กทั้งสองคนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี เรียกบิดาเด็กผู้ตายเข้ามาในคดีด้วยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (2) ซึ่งบัญญัติว่า

“เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้

(2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น”

คดีนี้จึงจบด้วยดี โดยพนักงานอัยการยื่นฟ้องเด็กและได้ร้องขอต่อศาลให้เรียกบิดาเด็กเข้ามาในคดีตามที่ผู้เขียนได้มีคำสั่ง

ดังนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายอาญาของไทยเรามีความทันสมัยมาก แต่นักกฎหมายโดยเฉพาะพนักงานอัยการของเราอาจจะยังไม่ทันสมัยพอก็เป็นได้ ผู้เขียนจึงได้สั่งดังกล่าว

ทีนี้กลับมาสู่คดีที่ น.ส.แพรวา ตกเป็นจำเลยต่อไป

คดีหลังนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า บิดามารดาและเจ้าของรถที่ให้จำเลยขับก็น่าจะกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เพราะได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 แต่พนักงานอัยการก็หาได้ดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดอีกสามคนดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ อันแสดงให้เห็นความไม่ทันสมัยของพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีนี้

นอกจากนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงการเรียนการสอนกฎหมายอาญาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เหตุนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้แต่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไม่สมบูรณ์แบบ

จนคุณแม่ของผู้ตายกล่าวในหนังสือพิมพ์ “Bangkok Post” ความว่า “ฉันไม่รู้ว่าฉันจะยังมีชีวิตอยู่ที่จะได้เห็นจุดจบของคดีนี้หรือไม่” (I don’t know whether I will be alive to see the end of this case.)

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนใคร่ขอเรียนคุณแม่ของผู้ตายว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท ยังไม่ขาดอายุความนะครับ

แล้วพนักงานอัยการและสำนักงานอัยการสูงสุดจะไม่จัดการอะไรกันบ้างเลยหรือ ทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง

“การบังคับใช้กฎหมาย” (Law Enforcement) ในประเทศเรานั้น ผู้เขียนเห็นว่ายังมีปัญหามากในทุกๆ ด้าน เพราะนักกฎหมายของเรานั้น เคยปฏิบัติกันมาอย่างไร ก็ปฏิบัติกันไปอย่างนั้น โดยไม่พยายามแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงกันเลยก็ว่าได้

เหตุนี้ เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นอัยการสูงสุด ผู้เขียนจึงได้ตั้ง “สถาบันกฎหมายอาญา” ขึ้นเพื่อการนี้

แต่ครั้นเมื่อผู้เขียนพ้นจากหน้าที่ราชการไปแล้ว ก็ปรากฏว่า “สถาบันกฎหมายอาญา” ก็หมดบทบาทไปด้วยอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนจึงใคร่ขอฝากข้อนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาด้วย เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

คณิต ณ นคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image