ความต่างในความเหมือน : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

รายงานลับของ “ท่านทูต” อังกฤษเกิดรั่วปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่วอชิงตัน นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา

เซอร์ คิม คาร์ร็อก เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำสหรัฐอเมริกา ได้ทำรายงานถึงผู้บังคับบัญชา มีเนื้อหาโดยสังเขปว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ ไร้ความสามารถ ขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่ อาชีพนักการเมืองของเขา อาจสิ้นสุดลงพร้อมกับความอับอายขายหน้า”

“โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ตอบโต้ในโซเชียลมีเดียว่า “คาร์ร็อกเป็นคนโง่และผิดปกติ”

Advertisement

ทั้งสองคนได้ปะทะคารมกัน จนในที่สุด “คาร์ร็อก” ได้ลาออกจากตำแหน่ง ปัญหาจึงยุติ

หากข้อพิพาททางการทูตระหว่างสองประเทศหาได้ยุติไม่

“โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “เซอร์ คิม คาร์ร็อก” ไม่ลงรอยกันมาก่อน กล่าวคือ เมื่อปี 2016 ขณะที่เขาได้รับเลือกเป็นว่าที่ประธานาธิบดี ก็ได้เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นทูตประจำสหรัฐต่อ “เทเรซ่า เมย์” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร จนเป็นข่าวเกรียวกราวและฮือฮาไปทั่ว

Advertisement

“เทเรซ่า เมย์” ตอบทันใดว่า “เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐของเรานั้น ดีเลิศประเสริฐสุด ท่านจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตต้องเป็นหน้าที่ของเรา”

“โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ทำสามหาวต่อวงการเมืองสหราชอาณาจักรมากมายหลายเรื่อง เช่น

1 ด่าทอนายกเทศมนตรีลอนดอนซาดิก ข่าน ว่าเป็น “ผู้ล้มเหลวตลอดกาล”

1 บริภาษนโยบายสหราชอาณาจักร

1 วิพากษ์ “เทเรซ่า เมย์” อันเกี่ยวกับการยินยอมจ่ายเงินค่าแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนเงิน 3.90 หมื่นล้านปอนด์ เป็นต้น

ล้วนเป็นพฤติการณ์ที่ “ผิดมารยาททางการทูต”

จึงเป็นเหตุให้คนอังกฤษดูหมิ่นถิ่นหยาม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเขาด่าทอนายกเทศมนตรีลอนดอน ก็ได้นำเอานายกเทศมนตรีนิวยอร์กมาทำการเปรียบเทียบด้วย ซึ่งมิใช่ประเด็นทางการทูต

ในสายตาของ “ทรัมป์” คงเข้าใจว่า ทั้งลอนดอนและนิวยอร์กอยู่ใต้บังคับบัญชาของเขา

จึงไม่แปลกที่มีคนอังกฤษจำนวนมากออกมาต่อต้านการเยือนสหราชอาณาจักรของ “ทรัมป์” เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้ คนอังกฤษไม่พอใจ “ทรัมป์” ที่ประพฤติตนไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์

“ทรัมป์” ยังประณามเจ้าหญิง Meghan Markle อย่างเปิดเผยว่า “น่ารำคาญ”

ครั้นเมื่อเยี่ยมชม Windsor Castle “ทรัมป์” มาสายถึง 12 นาที ปล่อยให้สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ต้องทรงนั่งรอ

นอกจากนี้นางเมลาเนีย สตรีหมายเลข 1 มิได้ทำความเคารพพระองค์โดยการย่อเข่า ทรัมป์เองก็ทำพลาดขณะเดินตรวจพลสวนสนามที่พระราชวังวินด์เซอร์ โดยเดินนำหน้าพระองค์

ล้วนเป็นพฤติกรรมที่กระทบต่อความรู้สึกของคนอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนอังกฤษไม่ชอบวิธีการทำงานของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

และแม้คนอังกฤษไม่เห็นด้วยกับลัทธิฝ่ายเดียวของอเมริกัน

แต่ไม่ว่าอังกฤษมองอเมริกา หรืออเมริกามองอังกฤษ

ก็คือพันธมิตรที่มั่นคงยิ่ง อย่างที่ภาษาตลาดของชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “กากี่นั้ง”

ไม่ว่าสหรัฐจะบุกรุกโจมตีประเทศใด สหราชอาณาจักรก็ต้องส่งทหาร “ร่วมด้วยช่วยกัน”

ความสัมพันธ์ทางการทูต สิ่งที่ถือว่าเป็นความร่วมมือสูงสุดคือแบ่งปันข้อมูลความมั่นคง

สหราชอาณาจักรและสหรัฐยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตร “5 eyes” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการแบ่งปันข้อมูล
ต่อมามีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดาเข้าร่วม รวมเป็น 5 ประเทศ

โดยใช้ภาษาเดียวกันคือ “อังกฤษ”

ก็เพราะความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของสองประเทศที่ร่วมก่อตั้ง “5 eyes”

อันปัญหา “ศรศิลป์ไม่กินกัน” ระหว่างประธานาธิบดีกับเอกอัครราชทูต

จึงเสมอ “พายุในแก้วน้ำ”

ไม่กระทบถึงความสัมพันธ์แน่นอน

นอกจากนี้ ระหว่างที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เยือนสหราชอาณาจักร ยังได้พบปะและสนทนาเดี่ยวกับ “บอริส จอห์นสัน” ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความแนบแน่นยิ่งขึ้น

หากย้อนมองต้นตอแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร ไม่เพียงเป็นพันธมิตรทางการเมือง หากยังมีนักการเมืองเบอร์ใหญ่ของสหรัฐส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับคนอังกฤษอีกด้วย

แม้วัฒนธรรมของสองประเทศดำรงอยู่ในรูปแบบเดียวกัน

แต่ก็ยังมีความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม

จึงมีคำกล่าวว่า “อังกฤษและสหรัฐได้ถูกภาษาเดียวกันแบ่งแยกให้เป็นสองประเทศ”

เป็นคำปริศนาในเชิงสัญลักษณ์ อันบ่งชี้ว่า การพูดจาของอเมริกันชนคือตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม โผงผางโฉ่งฉ่าง ออกจะก้าวร้าว แตกต่างกันมากกับคนอังกฤษ และไม่เพียงมีความต่างในคำตำหนิติเตียน คำด่าทอของอเมริกันชนยังทำให้คนฟังหมดกำลังใจ

ส่วนคำด่าทอของคนอังกฤษจะไม่มีคำหยาบ จนคนที่ถูกตำหนิไม่รู้ตัวว่าโดนแล้ว

ที่น่าสนใจคือ กิจกรรมทางการทูตของอังกฤษ เป็นเลิศในการใช้กลยุทธ์อันเป็น “ปริศนา”

ส่วนอเมริกันคือ “เปิดเผย”

เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “เซอร์ คิม คาร์ร็อก” ในครั้งนี้ ถือเป็นประเด็นส่วนหนึ่งของปัจเจกบุคคล อันเกี่ยวแก่บุคลิกส่วนตัวของ “ทรัมป์” ในประการที่เสมือนผู้ใหญ่รังแกเด็กเท่านั้น

แต่ในระยะยาว สหรัฐคงไม่ปฏิบัติต่อสหราชอาณาจักรเฉกเช่นปฏิบัติต่อ “เซอร์ คิม คาร์ร็อก” เพราะว่า “สหรัฐอเมริกา” และ “สหราชอาณาจักร” คือ

พี่น้องกินข้าวหม้อเดียวกัน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image