‘บิ๊กตู่’แถลงนโยบายรัฐบาล ‘ฝ่ายค้าน’เปิดฟลอร์อภิปราย

‘บิ๊กตู่’แถลงนโยบายรัฐบาล ‘ฝ่ายค้าน’เปิดฟลอร์อภิปราย

‘บิ๊กตู่’แถลงนโยบายรัฐบาล ‘ฝ่ายค้าน’เปิดฟลอร์อภิปราย

หมายเหตุส่วนหนึ่งของการอภิปรายการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาวาระแถลงการนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ขณะที่ฝ่ายค้าน ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) อภิปรายแนะนำ คัดค้าน และตรวจสอบนโยบายของ ครม. ที่อาคารหอประชุม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (อาคารประชุมรัฐสภาชั่วคราว) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา มีเนื้อหาทั้งหมด 66 หน้า แบ่งเป็นนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน โดยนโยบายหลักประกอบด้วย 1.การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 3.การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 4.การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 5.การพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย

Advertisement

6.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 7.การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐากราก 8.การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของไทยทุกช่วงวัย 9.การพัฒนาระบบสาธารณสุข และหลักประกันทางสังคม 10.การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติมโตอย่างยั่งยืน 11.การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ และ 12.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม

ส่วนนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน โดยลดข้อจํากัดในการประกอบอาชีพของคนไทย การจัดการระบบการขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทบทวนรูปแบบและมาตรฐานหาบเร่แผงลอยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แก้ไขปัญหาหนี้สินของในกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้สินนอกระบบ

2.การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการ ที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และพิจารณาขยายความครอบคลุมไปยังกลุ่มมารดาตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด และเร่งรัดการพัฒนาระบบบริการ สุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ

Advertisement

3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเร่งกระบวนการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ปรับปรุง ประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยจัดพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการน้ำและคุณภาพของดินตาม Agri-Map กําหนด เป้าหมายรายได้เกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตร สําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ด้วยการชดเชย การประกันรายได้ ส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตร หรือเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิด ผลกระทบทางวินัยการเงินการคลังของภาครัฐในระยะยาว

5.การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อนําไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต โดยต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ หมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองอัจฉริยะ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

7.การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ ในระบบดิจิทัล ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ ส่งเสริมการเรียน ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในทุกตําบล สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกรเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องการสร้างความสมานฉันท์

8.การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายราชการประจํา โดยเร่งรัดการดําเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่ไปกับมาตรการ ทางกฎหมายเมื่อพบผู้กระทําผิดอย่างเคร่งครัด นําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวัง การทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด พร้อมทั้งให้ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวัง การทุจริตประพฤติมิชอบ

9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ความสําคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศทุกภูมิภาค รวมทั้งฟื้นฟูดูแลรักษาผู้เสพผ่านกระบวนการทางสาธารณสุข โดยน้อมนํายุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักในการดําเนินการ

10.การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ปรับปรุงระบบการอนุมัติ และอนุญาตของทางราชการที่สําคัญให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งบุคคลและนิติบุคคล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และขับเคลื่อนการให้บริการในทิศทาง ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ

11.การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดภัย และการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยจัดระบบติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดและทันท่วงที รวมทั้งพัฒนาการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

12.การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นโยบายที่ได้แถลงมาทั้งหมดนี้ จะเป็นกรอบการบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงระยะเวลาของรัฐบาล โดยยึดกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลจะดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามความเร่งด่วนและทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเมื่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายที่จำเป็นต้องตราขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และขับเคลื่อน การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นฐานสำคัญ ในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปี ข้างหน้าตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาและประชาชนไทยทุกภาคส่วนว่า จะบริหาร ราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวม ของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)

วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสแรกในหลายปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนจะสามารถใช้อำนาจอธิปไตยผ่านสภาผู้แทนราษฎรในการมีส่วนร่วมต่อการพิจารณานโยบายที่รัฐบาลจะนำมาใช้ และจะส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน แม้รัฐสภาจะมิได้มีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงในวันนี้

ผมไม่เชื่อมั่นว่าภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดิม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิม ครม.หน้าเดิมๆ จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประเทศได้ การที่รัฐบาลชุดใหม่ยืนยันจะใช้บุคลากรและมาตรการเดิมๆ ที่ล้มเหลวมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีแต่จะนำประเทศไปสู่ความมืดมนและความอันตรายในที่สุด

ผมมีความเป็นห่วงประเทศชาติ และอนาคตของลูกหลานเป็นอย่างยิ่ง หากนโยบายที่รัฐสภากำลังพิจารณาอยู่นี้จะถูกนำไปดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลซึ่งขาดคุณสมบัติ ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ดังนี้

1.ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลผ่านรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะผ่านการทำประชามติ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น “ประชามติแบบมัดมือชก” ซ้ำยังมีคำถามพ่วงให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จำนวน 250 คน สามารถร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ได้ มีการคิดสูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่สามารถก่อให้เกิดการพลิกขั้วการจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งหมดจึงเป็นข้อสรุปว่ารัฐบาลของท่านเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ จึงได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญทีมเดิม และอาจเข้าใจไปได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะได้คนหน้าเดิมซ้ำอีก การตั้งรัฐบาลเช่นนี้ กระผมเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่สง่างาม ใช้เล่ห์เหลี่ยมและเล่ห์กลทางกฎหมาย และใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

2.ความไม่ชอบธรรมของคณะรัฐมนตรี ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติคือคณะรัฐมนตรี คุณสมบัติและความรู้ความสามารถของรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้อย่างเข้มข้น เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่ก็แปลกประหลาดมหัศจรรย์มากๆ ที่รัฐมนตรีหลายท่านมีคดีความผิดติดตัว บางท่านเคยมีคดียาเสพติด แต่รองนายกฯฝ่ายกฎหมายของบอกว่าเป็นคดีที่เกิดในต่างประเทศ ไม่ใช่ศาลไทย นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดเป็นอย่างมากในยุคที่คุยว่าต้องการปฏิรูปการเมือง พี่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ให้น้องเป็น ภรรยาเป็นไม่ได้ให้สามีเป็น พ่อเป็นไม่ได้ให้ลูกเป็น รัฐมนตรีของท่านจึงพิลึกยิ่งกว่านอมินี ท่านจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ถ้ารัฐมนตรีของท่านเองก็มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

3.ปัญหาคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียอมเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซึ่งรัฐธรรมนูญห้ามมิให้เสนอผู้ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ท่านเป็นหัวหน้า คสช. แม้ขณะที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯก็ยังเป็นหัวหน้า คสช.อยู่ ยังไม่เห็นว่าจะใช้เหตุผลอะไรที่จะบอกว่ามิได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นหัวหน้า คสช. ให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน มีเงินเดือนตอบแทน หากไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วเป็นอะไร

นอกจากเรื่องความไม่ชอบธรรมแล้ว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาท่านเป็นรัฐบาล คสช. กระผมเห็นว่าเป็น 5 ปี แห่งความล้มเหลวมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก นอกจากความไม่ชอบธรรมทั้ง 3 ด้านแล้ว ผมอยากกล่าวถึงความล้มเหลวในการทำงานด้านนโยบาย ดังนี้

1.ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เกิดความเหลื่อมล้ำรวยกระจุกจนกระจาย เศรษฐกิจของพ่อค้าเศรษฐีทั้งหลายดีวันดีคืน แต่ประชาชนหาเช้ากินค่ำ ลำบากยากเข็ญ เศรษฐกิจไทยยุค คสช.เติบโตต่ำมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับท้ายๆ ของอาเซียนทั้งๆ ที่เราเป็นผู้นำมาก่อนในอดีต จนหนังสือพิมพ์ชื่อดังได้ตั้งฉายาประเทศเราว่าเป็น “The Sick Man of Asia” หรือ “ผู้ป่วยแห่งเอเชีย” เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง

2.ความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมือง ท่านกล่าวหานักการเมือง แต่ในที่สุดก็มาจับมือกับนักการเมืองเอาคนที่ท่านกล่าวหามาเป็นพวก ใช้อำนาจพิเศษต่อรองทางการเมือง นักการเมืองสีเทาทั้งหลายไปรวมตัวอยู่กับท่านแทบทั้งหมด ใช้มาตรา 44 สั่งยุติการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่น วันดีคืนดีก็ใช้มาตรา 44 ปล่อยให้ไปรับตำแหน่งเดิม ล้มเหลวในการทำบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีจ่านิวและนักกิจกรรมโดนรุมทำร้าย ทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมากขึ้น คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารค้น จับกุม กักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน

3.ความล้มเหลวในด้านการใช้งบประมาณพัฒนากองทัพ การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพจะเป็นการรับรองภัยคุกคามตามห้วงระยะเวลาต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ป้องกันการสูญเสียอธิปไตย แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เพราะประเทศไทยยังมีความต้องการในการพัฒนาด้านอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปากท้องของพี่น้องประชาชน การจัดหายุทโธปกรณ์จึงต้องเป็นการจัดหาตามที่จำเป็น และเพียงพอต่อการใช้ปฏิบัติได้ทันทีเมื่อเกิดภัยคุกคาม ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ทั้งนี้ เรือดำน้ำไม่น่าจะใช้ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย งบประมาณของกองทัพก็ควรที่จะต้องปรับเปลี่ยน และจัดสรรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ท่านประธานที่เคารพ จากทั้งหมดที่กระผมได้อภิปรายมาแล้วในชั้นต้น ผมขอเรียนสรุปกับท่านประธานว่า ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีศักยภาพเพียงพอในการนำเอานโยบายที่กำลังจะประกาศใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ขาดความชอบธรรม ทั้งความชอบธรรมในการเข้ามาสู่อำนาจ และความชอบธรรมในเรื่องคุณสมบัติ เมินเฉยต่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและบิดเบือนกลไกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง ทำให้กระผมไม่เชื่อว่าท่านจะสามารถทำให้นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้

วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.)

นโยบายไม่มีอะไร เลื่อนลอย แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นคนแถลงก็มีความรู้สึกว่าไม่อยากจะอ่าน เพราะรู้ว่าที่เขียนไป จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ อีกทั้งยังยากต่อการติดตามผล ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ที่จะตรวจสอบคือประชาชน นโยบาย 35 หน้า แต่หาวิสัยทัศน์ไม่ได้ เพราะคนเขียนๆ เก่ง หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นโยบายไม่ไช่ประกวดเรียงความ จึงคิดว่ารัฐบาลที่จะมาแก้ปัญหาของประชาชนต้องมีความรับผิดชอบสูง ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประมวลจริยธรรม อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่ารัฐบาลจะ
ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เขียนไว้ ผมจะเชื่อ แต่คนที่ทำปฏิวัติซ้ำซากอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง แล้วบอกว่าจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะผมไม่เชื่อมั่น ทำปฏิวัติรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นกบฏอยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงไม่เชื่อว่าข้อความนี้เกิดขึ้นจากคนที่เคยทำปฏิวัติ แต่ถ้าจะบอกว่าจะยึดมั่นในระบอบเผด็จการประชาธิปไตย อย่างนี้ยังพอไปได้

นอกจากรัฐประหารแล้ว ยึดอำนาจเสร็จก็ใช้เวลาถึง 5 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกไม่ผ่าน โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า ที่รัฐธรรมนูญเขาอยากอยู่ยาว จึงถามว่านี่หมายความว่าอย่างไร อีกทั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผมอยู่ในเหตุการณ์ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจพูดได้ แต่ผมติดใจคำพูดท่านในห้องประชุม เมื่อตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลไม่ลาออก จึงขอยึดอำนาจ แล้วยังบอกว่า อย่าคิดสู้ ถึงสู้ก็สู้ไม่ได้ เพราะเตรียมการเรื่องนี้มา 3 ปีกว่าแล้ว ผมรู้ว่าผมสู้ไม่ได้ แต่อยากถามว่า ที่บอกว่าเตรียมการมา 3 ปีกว่า นับย้อนหลังไปตั้งแต่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ผมจึงข้องใจมาถึงขณะนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนยึดอำนาจเป็นการเตรียมการของท่านด้วยหรือไม่ แล้วมาอ้างว่าบ้านเมืองวุ่นวาย ดังนั้น ผมไม่เชื่อคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วจะยื่นประชาธิปไตยให้ประชาชน เหมือนสุภาษิตที่ว่า ไม่มีวันที่งาช้างจะออกจากปากสุนัข

ในรัฐธรรมนูญมีการเขียนถึงหลักธรรมาภิบาล เพื่อส่งเสริมให้นักการเมืองมีคุณภาพ แสดงว่านักการเมืองยังไม่มีคุณภาพ แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ไปสัมมนากันที่รีสอร์ตผิดกฎหมาย มีการจับกุมมา 2 ครั้ง อย่างนี้มีคุณภาพหรือไม่ เช่นเดียวกับข้อวิจารณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาชญากร นักเลงใหญ่โต ไม่ทำตัวเป็นตัวอย่าง การกำกับดูแลวินัยการเงินการคลัง ในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง มีข้อวิจารณ์ว่าเป็นคนไม่มีวินัยการเงินการคลัง เพราะในสมัยที่ดูแลธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติเงินหมื่นล้าน ทำให้รัฐเสียหาย กรณีนี้มีผู้ติดคุกจำนวนมาก แม้ท่านจะไม่ติดคุกเพราะอาจได้รับความมหัศจรรย์ของกฎหมาย

ดังนั้น จะให้ผมเชื่อว่าคนที่จะมากำกับเงินสามล้านล้านบาทจะเคร่งครัดได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image