‘อุตตม’โพสต์แจงงบกลาง 4 แสนล. ชี้ยังจำเป็นต้องทำงบขาดดุลเพื่อดูแลศก. ช่วยประชาชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง โฟสต์เฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ถึงเรื่องการเงินการคลังว่า การเงินการคลังที่เข้มแข็ง จะตอบโจทย์การช่วยเหลือประชาชน เรื่องของการเงินการคลังของประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเป็นพื้นฐานดูแลความเข้มแข็งเศรษฐกิจของประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายของประเทศในทุกด้านให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ประการแรก การตั้งงบกลางฉุกเฉิน 400,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายการได้ 11 รายการ อาทิ บำเหน็จบำนาญ สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ที่เรียกว่างบฉุกเฉิน มีประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดในงบดังกล่าว

ประการที่ 2 เรื่องของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2502 โดยเฉพาะในมาตรา 45 พูดถึงงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาท เรียกว่า “เงินทุนสำรองจ่าย” มีวัตถุประสงค์สำหรับการใช้จ่ายในกรณีที่เรียกว่า “เหตุจำเป็นฉุกเฉิน” จะใช้ได้ในกรณีเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน แล้วไม่สามารถนำเงินจากแหล่งเงินอื่นมาใช้ได้อีกแล้ว โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเมื่อมีการนำมาใช้แล้วจะต้องมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยทันทีในโอกาสแรกที่จะทำได้ จึงไม่ใช่ว่าจะสามารถนำไปใช้เมื่อไหร่ก็ได้ และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการใช้

ประการที่3 การตั้งงบประมาณขาดดุล รัฐบาลจะต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้นว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และจะต้องสอดรับกับนโยบายยุทธศาสตร์และการพัฒนา เช่น ในปี 2557-58 ซึ่งเศรษฐกิจไทยประสบภาวะชะลอตัว รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุลขึ้นมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ โดยจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 3 ในปี 2560 และต่อเนื่องเป็นร้อยละ 4 ในปี 2561 ซึ่งนโยบายการตั้งงบประมาณขาดดุลอยู่ภายใต้วินัยการเงินการคลัง ไม่สามารถตั้งขึ้นเองได้

โดยพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องมีทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 และพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่เสมอ และระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ได้ลดลง จากประมาณร้อยละ 43.3 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2557-58 เป็นร้อยละ 42 ในปัจจุบัน โดยยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ของจีดีพี

Advertisement

ขณะเดียวกันการดำเนินการในระยะกลางและระยะยาว การจัดทำงบประมาณ กระทรวงการคลัง ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะต้องมีการจัดทำแผนระยะกลาง (medium term physical framework) เป็นการวางแผนระยะ 3-5 ปี ต่อจากนี้ เพื่อเป็นกรอบทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง อาทิ เราจะต้องวางแผนดังกล่าว เพื่อกำหนดระยะเวลากลับเข้าสู่งบประมาณที่สมดุลได้เมื่อไหร่ แม้ว่าปัจจุบันมีความเหมาะสมจำเป็นที่จะใช้งบประมาณขาดดุลก็ตาม

ด้านการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้มีรายได้น้อย เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธ.ออมสิน ธกส. ธอส. เน้นการอำนวยสินเชื่อเงินทุนให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์ปกติ โดยมีการให้กู้ยืมไปแล้วกว่า 3.8 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 41 ของสินเชื่อภาคธนาคารทั้งหมดสำหรับครัวเรือน นอกจากนั้นรัฐบาลกำลังพัฒนาแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่น เช่น นาโน ไฟแนนช์ ที่เน้นการให้สินเชื่อเพื่อการเข้าถึงของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ รวมทั้งการจัดการด้านเทคโนโลยี พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า (Big Data) เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่มีความต้องการแหล่งเงินทุน

ในเรื่องการส่งเสริมการออมภาคเอกชน ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติหรือ กอช. โดยขณะนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 3.9 แสนคนในปี 2558 เป็น 1.57 ล้านคนในปัจจุบัน

Advertisement

ประการต่อมา คือเรื่องหนี้ครัวเรือน มีการเติบโตตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมีหัวใจสำคัญความจำเป็นในการนำไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่นำไปสร้างรายได้ เรื่องของที่อยู่อาศัย ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

กระทรวงการคลังจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลการก่อหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร คือดูแลให้ข้อมูล ให้ทักษะเกี่ยวกับการก่อหนี้ครัวเรือน เช่น กลุ่มอาชีวะ กลุ่มที่กำลังเข้าสู่วัยการทำงาน เพื่อการก่อหนี้ที่เหมาะสม มีสัดส่วน โดยหากเกิดปัญหาจะต้องได้รับการดูแลจากหน่วยงาน หรือองค์กรกลาง ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน ในแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการดูแลที่ครบวงจร

เรื่องวินัยการเงินคลัง เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะทำให้ศักยภาพของการเงินการคลังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ข้อมูลล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่เรียกว่า Moody’s Investor Service ได้มีการปรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากเดิมคือแนวโน้ม “มีเสถียรภาพ” เป็นแนวโน้ม “เชิงบวก” เช่นเดียวกับ สถาบัน Fitch (Fitch Ratings (Thailand) Ltd.) ซึ่งได้ปรับการจัดอันดับ สะท้อนให้เห็นว่าความน่าเชื่อใจในเรื่องวินัยการเงินการคลังของไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตามเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ไว้วางใจเด็ดขาด โดยเราจะดูแลวินัยด้านการเงินการคลังอย่างเข้มข้นเสมอ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ที่ประเทศจะต้องมีการเงินการคลังที่เข้มแข็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image