สรรพากรเผยใช้ดิจิทัลช่วยรีดภาษีเกินเป้า 5.55 หมื่นล้านบาท มั่นใจทั้งปีทำได้ 2 ล้านล.

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า“ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – มิถุนายน 2562) กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้รวม 1,471,749 ล้านบาท สูงกว่าเป้าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (2.0 ล้านล้านบาท) 55,543 ล้านบาท หรือ 3.9% และสูงกว่าปีก่อน 115,406 ล้านบาท หรือ 8.5% เนื่องจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ การติดตามการยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยใช้ Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลการยื่นแบบเพื่อติดตามให้ผู้ประกอบการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง บูรณาการข้อมูลภายในและภายนอกเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ทราบรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการ การให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นโดยการจัดทำบัญชีเดียว การส่งเสริมความสมัครใจในการเสียภาษีผ่านการประชาสัมพันธ์บริการดิจิทัล และการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า ผลจัดเก็บตามประเภทภาษีสำคัญ เช่น  ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ 445,604 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 11,702 ล้านบาท และสูงกว่าปีก่อน 8.6% เป็นผลจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการ (Supply Chain) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมถึงผลประกอบการของนิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นในปีก่อน  ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บได้ 96,378 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 50,908 ล้านบาท และสูงกว่าปีก่อน 87.4% จากการเร่งรัดติดตามจัดเก็บภาษีและผู้ประกอบการปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น

สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ จัดเก็บได้ 46,185 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 1,429 ล้านบาท และสูงกว่าปีก่อน 2.9% จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2562  อากรแสตมป์ จัดเก็บได้ 12,072 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 427 ล้านบาท และสูงกว่าปีก่อน 6.3% จากการติดตามจัดเก็บภาษีจากการทำสัญญาและตราสารเพิ่มขึ้นตามโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการโอนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562

Advertisement

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2562 (กรกฎาคม 2562 – กันยายน 2562) ผลจัดเก็บภาษีกรมสรรพากรได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การนำเข้าและส่งออกลดลงจากสงครามการค้า ราคาน้ำมันที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ค่าเงินบาทแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง การชะลอตัวของสินเชื่อและการบังคับใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่สอง อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมและเป็นไปตามเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 2.0 ล้านล้านบาทต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image