พฤติกรรมองค์การของทหารบกไทย ความเข้าใจใหม่ มีอะไรสำคัญกว่ากัน? โดย : พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส

ในปัจจุบันคำศัพท์เรื่อง องค์กร และ องค์การ สองคำนี้รู้สึกใช้กันสับสนมากในวงวิชาการ แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 อธิบายไว้ ดังนี้ องค์กร หมายถึง ส่วนประกอบย่อยของหน่วยใหญ่ ทำหน้าที่สัมพันธ์กัน หรือขึ้นตรงต่อกันและกัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Organ ส่วน องค์การ หมายถึงศูนย์กลางของกิจการที่รวมประกอบกันขึ้นเป็นหน่วย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Organization องค์การจะมีหน้าที่ใหญ่กว่าองค์กร และองค์กรเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ องค์การส่วนใหญ่มีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคล ในตำราและวิชาที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะเรียกกันว่าพฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior หรือ O.B.)

ได้มีนักวิชาการหลายท่านทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ เช่น รศ.พิบูล ทีปะปาล ให้ความหมายสรุปความได้ว่า พฤติกรรมองค์การเป็นสาขาวิชาหนึ่งซึ่งต้องใช้สหวิชาการหลายสาขา (Multi disciplinary field) เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในองค์การอย่างมีระบบ โดยศึกษากระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลแต่ละคน (Individuals) กลุ่มบุคคล (Groups) และองค์การ (Organizations) เพื่อนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงงานในองค์การให้เกิดผลดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสวัสดิภาพของบุคคลในองค์การดีขึ้นอีกด้วย

สำหรับพฤติกรรมองค์การของทหาร (Military Organizational Behavior หรือ M.O.B.) หมายถึง การกระทำของบุคคล กลุ่มบุคคลในองค์การของทหาร และมีผลกระทบของพฤติกรรมต่อการแสดงออกสู่สาธารณะ ประกอบด้วย 1) ความมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม 2) ความมีระเบียบวินัยที่เข้มงวด และ 3) ความสามารถแสดงกำลัง และมีความหมายสั้นๆ ได้แก่ ความมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม (Authoritarian Personality) หมายถึงการยอมรับในอำนาจของบุคคลที่เป็นผู้บังคับบัญชาของตน ความมีระเบียบวินัยที่เข้มงวด (Splendid Discipline) หมายถึงการปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งขององค์การทหารที่ได้กำหนดไว้อย่างเข้มงวด และความสามารถแสดงกำลัง (Show of Force) หมายถึงการแสดงพลังขององค์การทหารด้วยกำลังพลจำนวนมากและอาวุธชนิดต่างๆ ทำให้ข้าศึกหรือฝ่ายตรงข้ามเกิดความเกรงกลัวได้

ในสามพฤติกรรมองค์การดังกล่าว อะไรสำคัญกว่าอะไร ในอดีตยังไม่เคยมีท่านใดให้คำตอบได้อย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่ก็จะใช้ความรู้สึก หรือประสบการณ์ของตนบอกว่าสิ่งนั้นสำคัญกว่าสิ่งนี้ แต่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับยืนยันในคำตอบของตน

Advertisement

การรู้ว่าสิ่งใดสำคัญกว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงงานในองค์การของทหาร การวางแผนทางทหาร และสวัสดิภาพของทหาร ฯลฯ ได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ผู้เขียนได้ทำวิจัยเมื่อ พ.ศ.2560 เรื่อง “บทบาทของนายทหารบกระดับกลางที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย” โดยได้ทบทวนวรรณกรรม
และผลงานวิจัยต่างๆ แล้วว่า มีสาเหตุสำคัญที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้นั้น ขึ้นกับสี่ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) พฤติกรรมองค์การของทหาร 2) ผลของกฎหมาย 3) กลุ่มผลประโยชน์ และ 4) พฤติกรรมประชาธิปไตยของทหาร ทำไมนายทหารบกระดับกลาง (Middle Commission Army Officers) ซึ่งหมายถึงนายทหารชั้นยศพันตรีถึงพันเอกพิเศษ จึงมีความสำคัญ

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการทหารแห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนระบุไว้ในหนังสือเสนาธิปไตย รัฐประหารกับการเมืองไทย เมื่อเดือนมกราคม 2558 ดังนี้ โดยปัจจุบันในทางการเมืองและการทหารมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือการควบคุมอำนาจกำลังรบที่แท้จริงอยู่ในมือของนายทหารระดับกลาง เช่น ผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับการกรมทหาร เป็นจุดสำคัญผลักดันให้นายทหารระดับกลาง ได้เข้ามาสู่เวทีการเมืองมากกว่าเป็นเพียง “ผู้รอรับคำสั่งจากนายทหารระดับสูงเท่านั้น” หรืออีกนัยหนึ่งของปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คือ “นายทหารคุมกำลังระดับกลางกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองมากกว่านายทหารระดับสูง”

ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำมาเสนอเฉพาะหัวข้อเรื่องพฤติกรรมองค์การของทหารเท่านั้น ส่วนหัวข้ออื่นๆ เมื่อมีโอกาสจะได้นำเสนอต่อไป

การวิจัยเชิงปริมาณจะได้ข้อมูลที่เป็นตัวเลข ช่วยให้เกิดความมั่นใจในการยอมรับได้ โดยผลการวิจัยที่ใช้กลุ่มตัวอย่างจากนายทหารนักเรียน สังกัดวิทยาลัยการทัพบกและโรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีที่ตั้งเขตดุสิต กทม. ซึ่งเข้าศึกษาประจำปีงบประมาณ 2560 ใช้เวลาศึกษา 1 ปี (1 ต.ค.59-30 ก.ย.60) จำนวน 418 คน (หลักสูตรวิทยาลัยการทัพบก 78 คน และหลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารบก (รวมหลักสูตรนายทหารบกอาวุโสด้วย) 340 คน ซึ่งนายทหารทั้ง 2 หลักสูตรถือเป็นมันสมองของกองทัพบก อย่างต่ำมีคุณวุฒิปริญญาตรีทั้งหมด มีปริญญาโท 149 คน และปริญญาเอก 9 คน แสดงว่านายทหารบกยุคปัจจุบันนี้ นอกจากมีพลังทางกายแล้วยังมีพลังทางสมอง มีคุณวุฒิสูงเมื่อเทียบเคียงกับส่วนราชการอื่นๆ

โดยมีชั้นยศตั้งแต่ พันตรี พันโท พันเอก และพันเอกพิเศษ ก่อนเข้ารับการศึกษาได้ปฏิบัติงานในหน่วยกำลังรบมากที่สุดถึง 139 คน และรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ หน่วยสนับสนุนการรบ หน่วยการศึกษา หน่วยส่วนภูมิภาค หน่วยส่งกำลังบำรุง หน่วยบัญชาการ และหน่วยช่วยพัฒนาประเทศ ได้ช่วยในการแสดงความคิดเห็นที่มี 5 ระดับ คือ คะแนน 1 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และคะแนน 5 เห็นด้วยอย่างยิ่ง และให้คะแนนอื่นๆ ตามระดับความคิดเห็นของแต่ละคน (2, 3, 4) โดยมีข้อคำถามและได้ตัวเลขเป็นค่ากลางเฉลี่ยของทั้งหมด 418 คน

ขอยกตัวอย่างมาบางคำถาม ทั้งนี้ ได้บันทึกข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และใช้โปรแกรมสำเร็จรูปช่วยในการแปรผลจากคะแนนเต็ม 5 คะแนนได้ ดังนี้

ความมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม

1.ท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ได้ค่า 3.40

2.ท่านคิดว่าภารกิจจะสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นกับผู้นำหน่วยนั้นๆ ได้ค่า 3.97

3.ท่านคิดว่าพฤติกรรมองค์การของทหารมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมประชาธิปไตยของทหาร ได้ค่า 3.89

4.ท่านคิดว่าอำนาจนิยมของทหารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ได้ค่า 3.63

5.ท่านคิดว่าเมื่อเป็นผู้บังคับบัญชาแล้ว ความเข้มแข็งเด็ดขาดจะนำสู่ชัยชนะได้ ได้ค่า 3.78

สรุปใน 5 คำถามข้างต้น ในข้อที่ 2 มีค่ามากที่สุด หมายความว่า ภารกิจทางทหารจะสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นกับผู้บังคับหน่วยทหารนั้นๆ เพราะฉะนั้น ผู้บังคับหน่วยทหารทุกระดับจึงต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติอย่างดียิ่ง

ความมีระเบียบวินัยที่เข้มงวด

1.ท่านคิดว่าวินัยที่เข้มงวดของทหาร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ได้ค่า 3.57

2.ท่านคิดว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องถูกลงโทษ ได้ค่า 4.00

3.ท่านคิดว่าทหารทุกชั้นยศ สมควรอยู่ใต้ พ.ร.บ.วินัยทหารเช่นเดียวกัน ได้ค่า 4.38

4.คำกล่าวปฏิญาณของทหารในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน ท่านสามารถปฏิบัติได้จริงๆ ได้ค่า 3.79

สรุป ใน 4 คำถาม ข้างต้น ในข้อที่ 3 มีค่ามากที่สุด หมายความว่า ทหารทุกคน ทุกชั้นยศ จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารอย่างเคร่งครัด

ความสามารถแสดงกำลัง

1.ท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “อาวุธคืออำนาจ” ถ้าผู้ใดถืออาวุธผู้นั้นมีอำนาจ ได้ค่า 3.17

2.ท่านคิดว่าการแสดงกำลังของทหารเป็นการข่มขวัญที่ทำให้ฝ่ายการเมืองเกิดความเกรงกลัว และยอมตามได้ ได้ค่า 3.21

3.ท่านคิดว่าผู้นำเหล่าทัพไม่สมควรใช้การแสดงกำลังเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ ได้ค่า 3.70

4.ท่านคิดว่าความสามารถแสดงกำลังและใช้อาวุธ สมควรใช้กับข้าศึกศัตรูภายนอกประเทศ ได้ค่า 3.65

สรุปใน 4 คำถาม ในข้อที่ 3 มีค่ามากที่สุด หมายความว่า การแสดงกำลังควรใช้เฉพาะความมุ่งหมายทางทหารเท่านั้น

และเมื่อได้นำองค์ประกอบทั้ง 3 ดังกล่าวของพฤติกรรมองค์การของทหารมาหาค่าเฉลี่ยร่วมกันอีกได้ค่า ดังนี้

ความมีระเบียบวินัยที่เข้มงวด ได้ค่า 3.99

ความมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม ได้ค่า 3.74

ความสามารถแสดงกำลัง ได้ค่า 3.49

จึงสามารถเฉลยคำตอบจากผลงานวิจัยรองรับได้ว่า พฤติกรรมองค์การของทหารนั้น มีความสำคัญเรียงลำดับได้ คือลำดับ 1.ความมีระเบียบวินัยที่เข้มงวด ลำดับ 2.ความมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม และลำดับ 3.ความสามารถแสดงกำลัง

ความมีระเบียบวินัยจึงเป็นหัวใจสำคัญของทหารอาชีพทุกคนที่ได้มีสิทธิถือและใช้อาวุธในการป้องกันประเทศให้ปราศจากศัตรูผู้รุกราน ทหารอาชีพนอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองทุกฉบับเหมือนประชาชนทั่วไป แล้วยังมีกฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 และประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ.2454 ฯลฯ ใช้บังคับอีกด้วย เพราะฉะนั้น ทหารทุกคน ทุกชั้นยศ ทุกเหล่าทัพต้องประพฤติตนเป็นสุภาพบุรุษ ยึดมั่นในระเบียบวินัยของทหารและกฎ กติกา มารยาทของสังคม พร้อมทั้งควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกโอกาส

และขอฝากคติคำคมสุภาษิตไทยโบราณสำหรับผู้มีอำนาจในวงการทหารว่า “ยิ่งสูงยิ่งนอบน้อม ยิ่งพรั่งพร้อมยิ่งถ่อมตน ยิ่งมีอำนาจล้น ยิ่งฟังคนได้ ทั้งมวล” ไว้ด้วย

พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ /อาจารย์สาขาการบริหารการพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image