สะพานแห่งกาลเวลา : แผนที่กับ‘เอไอ’ : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เรื่องของเรื่องก็คือ ในโลกนี้มีถนนหนทางที่ยังไม่ปรากฏอยู่บนแผนที่อีกเยอะมาก

เฉพาะในประเทศไทย มี “ถนน” ที่ไม่ใช่ “ทางเดินเท้า” ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่บนแผนที่ใดๆ มากถึง 300,000 ไมล์ หรือราว 482,803.2 กิโลเมตร

ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ได้ยกเมฆขึ้นเอง แต่เป็นข้อมูลที่ได้มา หลังจากที่มีการจัดการทำแผนที่ถนน
เหล่านั้น ใส่ไว้ในแผนที่เรียบร้อยแล้ว

โครงการนำถนนที่ยังไม่ได้ปรากฏมาใส่ไว้ในแผนที่นี้มีชื่อโครงการว่า “แมป วิธ เอไอ” ที่มีชื่อโครงการอย่างนี้ เพราะเขาใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” มาใช้ในการทำแผนที่เป็นหลัก

Advertisement

คนที่เป็นเจ้าของโครงการ ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “เฟซบุ๊ก อิงค์.” ที่คนไทยรู้จักกันดี เป็นโครงการที่ทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับชุมชนบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกตัวเองว่า “โอเพ่น สตรีท แมป” หรือ “โอเอสเอ็ม”

“โอเอสเอ็ม” เป็นชุมชนคนรักและเชี่ยวชาญในการทำแผนที่ ปวารณาตัวเพื่อการจัดทำแผนที่ถนน, สถานีรถไฟ, และจุดให้บริการอื่นๆ ให้ได้ทั่วโลกและเก็บรักษาไว้บนโลกอินเตอร์เน็ต

ใครอยากดูเส้นทางใหม่ๆ ในประเทศไทย ก็เข้าไปดูได้เลยที่ www.openstreetmap.org

Advertisement

ความยุ่งยากลำบากของ โอเอสเอ็ม ก็คือ ถนนมีเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ เฟซบุ๊กเข้ามาช่วย ก็เพื่อลดทอนความยากลำบากในส่วนนี้ของ โอเอสเอ็ม ลงนั่นเอง

นอกจากถนนที่ไม่เคยปรากฏในแผนที่ในประเทศไทยแล้ว ยังมีใน อัฟกานิสถาน, บังกลาเทศ, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, ไนจีเรีย, แทนซาเนีย และยูกันดา

ทั้งหมดล้วนทำขึ้นแล้วเสร็จแล้วด้วย “เอไอ” และเฟซบุ๊ก วางแผนไว้ว่า ในอนาคตจะทำให้ครบทั่วทั้งโลก

เฟซบุ๊ก จะได้อะไรจากการทำเรื่องนี้? ได้สิครับ เรื่องนี้เชื่อมโยงอยู่กับความพยายามของ
เฟซบุ๊กที่จะขยายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้กว้างไกลครอบคลุมให้มากที่สุด รวมทั้งในพื้นที่ชนบท

ซึ่งในทางหนึ่งเท่ากับเป็นการขยายฐาน “ยูสเซอร์” ที่เข้ามาใช้บริการเฟซบุ๊กเพิ่มมากขึ้นมหาศาลไปโดยปริยายนั่นเอง

แต่ในเวลาเดียวกัน แผนที่ซึ่งเฟซบุ๊กกับโอเอสเอ็ม ร่วมมือกันทำขึ้น ก็สามารถนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้ อย่างเช่นอาจใช้เพื่อการบรรเทาสาธารณภัย หรือเพื่อการวางผังเมือง เพราะเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าไปใช้งานได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเดียวเท่านั้น

คำถามต่อไปคือ แล้วเอไอทำแผนที่ได้อย่างไร?

คำตอบอย่างง่ายก็คือ ให้ดูภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแล้ว แยกแยะให้ออกว่า อันไหนเป็นถนน อันไหนเป็นเส้นทางเดินเท้า หรือเป็นแม่น้ำ

ฟังดูง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะความละเอียดของภาพต้นฉบับนั้น หนึ่งพิกเซลในภาพมีขนาดเท่าพื้นที่จริงถึง 1 ตารางฟุต

เขียนอัลกอริธึมให้ปัญญาประดิษฐ์ในคอม พิวเตอร์สามารถจำแนกได้แล้ว ยังต้องเขียนให้ “เรียนรู้” แล้วต้องฝึก ด้วยการนำภาพถ่ายกับเส้นทางถนนที่มีอยู่บนแผนที่จริงๆ แล้ว มาฝึกฝนให้กับเอไอ

โปรแกรมจำแนกเส้นทางถนนกับปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการจัดทำแผนที่ครั้งนี้เรียกว่า “RapiD” ครับ หน้าตาก็อย่างที่ลงเป็นภาพประกอบให้ดูกันนั่นแหละ

ในภาพส่วนที่เป็นเส้นสีขาวคือถนนที่มีอยู่ในแผนที่แล้ว ส่วนสีชมพู (หรือสีเทาถ้าเป็นภาพ
ขาวดำ) คือเส้นทางถนนที่ เอไอ คาดเอาไว้ว่าเป็นถนนที่ยังไม่มีอยู่ในแผนที่

ที่ต้องบอกว่า “คาดว่า” นั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ผลงานที่เอไอทำไว้ทั้งหมดในประเทศไทย ไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็น “มนุษย์” กลั่นกรองทบทวนแล้วแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องอีกขั้นหนึ่งถึงจะแล้วเสร็จ

แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถลดเวลาจากที่เคยใช้มนุษย์อย่างเดียวลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง ในกรณีของประเทศไทย เอไอ ช่วยให้การจัดทำแผนที่ถนนซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้วเสร็จได้ภายใน 18 เดือน

มาร์ติน ฟาน เอกเซล ที่คร่ำหวอดอยู่กับโอเอสเอ็ม มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ยอมรับว่า ถนนหนทางมีการเพิ่มเติมใหม่ทุกวันทั่วโลก การไล่ตามให้ทัน ไม่มีวันเป็นไปได้ถ้าไม่ใช้ “เอไอ”

แต่เขาสรุปไว้น่าคิดทีเดียวครับว่า

แต่ “เอไอ” อย่างเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ ไร้ประโยชน์ ทั้งสองอย่างจึงต้อง “เดินทาง” ไปพร้อมๆ กัน

ไปสู่อนาคตด้วยกันไงครับ!

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image