คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน แล้วไงต่อ? : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อไม่กี่วันมานี้ World Economic Forum ได้เผยแพร่เอกสารเรื่อง “The Future of Jobs Report 2018” ซึ่งกล่าวถึงงานต่างๆ สำหรับอนาคตของโลกมนุษย์ โดยมีการพูดถึงอนาคตของประเทศไทยเราด้วย

ถึงแม้ว่า ปัจจัยด้านค่าแรงจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับที่ 2 ที่ทำให้งานต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันค่าแรงถูกก็ไม่ใช่ข้อได้เปรียบของประเทศเราอีกต่อไปแล้ว (เวียดนามปัจจุบันค่าแรงถูกกว่าเราประมาณ 50%) แต่กลับกลายเป็น “บุคลากรที่มีความสามารถ” (Talent Availability) เป็นปัจจัยอันดับแรกๆ ที่ทำให้งานของหลายอุตสาหกรรมที่ทันสมัยเข้ามาอยู่ที่ประเทศไทย

ดังนั้น จุดที่เราจะต้องแข่งขันให้ได้ในอนาคต (อันใกล้) ก็คือ “ความพร้อมของคนทำงาน” ที่มีทักษะและมีความสามารถตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งผลของการสำรวจพบว่าเราจะต้องพัฒนาทักษะใหม่ตามที่ตลาดต้องการภายใน 1 ปี เพื่อให้ปัจจัยด้าน “Talent Availability” เป็นตัวรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย

ตัวอย่างของการพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็น ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งและเริ่มมีกระแสนักท่องเที่ยวในไทยลดลงก็คือ ทักษะใหม่ๆ ทางด้านภาษา ข้อมูลสถิติ / นวัตกรรม / การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งต่างจากทักษะเดิมๆ เช่น การบัญชี / การบริหาร / การเก็บเงิน เป็นต้น

Advertisement

ดังนั้น ในขณะที่แนวโน้มด้านเทคโนโลยีของโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Blockchain, Quantum, Augmented Things, Artificial Intelligence (AI), Digital Twins และเรื่องที่เราเข้าไม่ถึง (เข้าใจยาก) อีกมากมายที่หลั่งไหลเข้ามา เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญของ ยุค “การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0” เราจึงต้องเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อไม่ให้ตกขบวน “Industry 4.0”

ว่าไปแล้ว ในแวดวงการศึกษาของเรา ได้เตรียมการเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในการพัฒนาการศึกษาที่เน้นเรื่องของ “STEM” อันได้แก่ Sciences (วิทยาศาสตร์), Technology (เทคโนโลยี), Engineering (วิศวกรรม) และ Mathematics (คณิตศาสตร์)

แต่ปัญหาของบ้านเรา มักจะอยู่ที่คำถามที่ว่า “แล้วไงต่อ?”

Advertisement

คือ ตอนนี้เรามีทั้งครูอาจารย์และเด็กจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากการพัฒนาในระบบ STEM แล้ว แต่จะทำอะไรต่อไปได้อีกจากผลลัพธ์นี้

ทุกวันนี้ เรามีเด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่เก่งระดับโลก สามารถไปแข่งขันได้เหรียญทองหรือที่หนึ่ง โอลิมปิกมากมาย ซึ่งทำให้คนไทยชื่นชมยินดี มีการประกาศเกียรติคุณและคล้องพวงมาลัยรับที่สนามบิน จนเป็นข่าวโด่งดังหลายวัน แล้วก็เงียบหายไป และตามมาด้วยคำถาม “แล้วไงต่อ”

เรามีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จนได้รางวัลที่หนึ่งติดต่อกันหลายปีซ้อน และตามมาด้วยคำถาม “แล้วไงต่อ”

ทุกวันนี้ ระบบการศึกษาของไทยตกเป็นจำเลยของสังคมมานานมากแล้ว ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เติบโตและพัฒนาจากระบบการศึกษาที่ว่านี้

แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ “การประยุกต์ต่อยอด” จากจุดแข็งของเรา และ “การบูรณาการ” ขององค์ความรู้ของทุกภาคส่วน รวมตลอดถึง “การร่วมแรงร่วมใจกัน” ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศไทยเป็น “หนึ่งเดียว” ที่ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก

ทุกวันนี้ เราต่างรู้แต่ไม่ยอมลงมือทำซักที เพราะมัวแต่ถามว่า “แล้วไงต่อ” และเกี่ยงกันทำ ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image