เฟ้อเดือนก.ค.พุ่ง 0.98% ตามราคาอาหารสด-ผักสดสูงขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนกรกฎาคม 2562 เท่ากับ 103 สูงขึ้น 0.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันปี 2561 และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้น 0.06% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี 2562 จะสูงขึ้น 0.92 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยหากประเมินตามประมาณการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ว่า ในปีนี้เงินเฟ้อจะขยายตัวในกรอบ 0.7-1.3% ก็เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ จึงเชื่อว่ายังไม่อยู่ในระดับที่เป็นปัญหาอะไร

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2562 เพิ่มสูงขึ้น ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3.47%โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้น 20.01%(มะนาว พริกสด มะเขือ) จากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ท้าให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับ ราคาฐานปีที่ผ่านมาต่้า ผลไม้สด สูงขึ้น 9.18% (ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้้า สูงขึ้น 5.73 %(เนื้อสุกร ไก่สด ปลานิล) ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.02 % โดยเฉพาะข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากปริมาณข้าวในสต๊อกมีน้อย

“การขยายตัวของราคาสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักสดที่มีราคาสูงขึ้นมาก บางรายการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% สินค้า เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางรายการ ไม่สามารถออกผลได้ตามคาดการณ์ รวมถึงฐานราคาสินค้าเกษตรในปี 2561 อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ราคาในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นได้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ในขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง 3.31% หลักๆ มาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง 5.44% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก”นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือนกรกฎาคม 2562 (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เท่ากับ 102.52 ปรับลดลงจากเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา 0.03% และขยายตัว 0.41% หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2561 โดยการปรับสูงขึ้นของเงินเฟ้อถือว่าสอดคล้องกับยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภค รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศ ขณะนี้มองว่าสถานการณ์ยังไม่ได้แย่มาก อยู่ในอาการทรงตัว แต่หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดออกมา อาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงได้

Advertisement

“ผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ในเดือนนี้ยังไม่ส่งผลกระทบ แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะยาวได้ ส่วนในระยะสั้นจะส่งผลให้เกษตรกรได้ราคาขายข้าวเปลือกสูงขึ้น แต่จะทำให้ประชาชนซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้มองว่าสถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ก็ต้องเร่งหาทางให้ดีขึ้นในระยะยาว เพราะช่วงนี้เริ่มเห็นผู้ประกอบการนำสินค้าในสต๊อก ออกมาลดแลกแจกแถม เพื่อระบายสินค้าแต่การลดราคามากเกินไปก็อาจจะไม่ดีมากนัก สำหรับการเร่งรัดออกมาตรการช่วยภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีออกมา โดยอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงคมนาคมที่จะทบทวนค่าขนส่ง กระทรวงพลังงานจะทบทวนนโยบายพลังงาน และการขึ้นค่าแรงซึ่งจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในลำดับต่อไป”นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image