บึ้มกรุง ลองของ พิสูจน์ฝีมือ ‘บิ๊กตู่’ นายกฯ ใหม่ ที่ไร้ ม.44

เสร็จสิ้นจากการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แบ่งงานรองนายกรัฐมนตรีในการกำกับดูแลกระทรวงต่างๆ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ระบุในส่วนของการแบ่งงานรองนายกฯ สรุปได้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงแรงงาน

และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนในสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในส่วนองค์การมหาชน สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน

Advertisement

มอบหมายให้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศสำนักนายกฯที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ และสมณศักดิ์ รวมถึงการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำประเทศและกงสุลที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประวิตรได้รับงานน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดที่แล้ว

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังแบ่งงานให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กำกับดูแลกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ บริษัท อสมท จำกัด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานบริหารและพัฒนาความรู้องค์การมหาชน และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

Advertisement

นายวิษณุ เครืองาม กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กำกับดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอกำกับดูแลงานความมั่นคงเอง

กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ

และยังนั่งหัวโต๊ะ ครม.เศรษฐกิจ

การแบ่งงานของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ สอดรับกับอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงรอยต่อรัฐบาลที่เดิมมีอำนาจตาม ม.44

แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ คณะรัฐมนตรีเริ่มทำงาน อำนาจตาม ม.44 หายไป

พล.อ.ประยุทธ์จึงเท่ากับ “เท้าลอย”

ดังนั้น การดูแลงานความมั่นคง รวมทั้งหน่วยงานทหาร ตำรวจ และดีเอสไอ ซึ่งมีอำนาจเต็มทางกฎหมาย จึงสามารถช่วยสร้างความมั่นใจในการบริหารได้

อย่างไรก็ตาม หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์แบ่งงานไม่ถึงสัปดาห์ กรุงเทพมหานครก็ประสบเหตุป่วนขึ้นมา

ตามรายงานข่าวระบุว่า เวลา 07.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดเหตุระเบิดหลายจุด ภายในศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.

ที่เกิดเหตุเป็นสวนหย่อมในอาคารบีของศูนย์ราชการฯ พบชิ้นส่วนระเบิดแตกกระจาย สวนหย่อมเสียหาย

ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ มีเสียงระเบิดดังอีกลูกที่สวนหย่อม ฝั่งตรงข้ามสวนหย่อมจุดแรก ฝั่งสำนักงาน กกต.

เวลาไล่เลี่ยกัน ที่หน้าบัญชาการกองทัพไทย ห่างจากอาคารบี ประมาณ 200 เมตร มีเสียงระเบิดดังอีกลูก บริเวณริมถนนฝั่งตรงข้ามกองบัญชาการกองทัพไทย และด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพไทยริมสระน้ำ พบระเบิดอีก 1 ลูก เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้สำเร็จ

ก่อนหน้านี้ที่บริเวณสวนหย่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี และที่บริเวณตึกมหานครก็เกิดเหตุ

ระเบิดที่ใช้ก่อเหตุพบว่าเป็นชนิดแสวงเครื่อง

ทุกจุดพบลูกปราย รัศมีการทำลาย 10-15 เมตร

เหตุการณ์ลอบวางระเบิดนี้ ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่สถานที่เกิดเหตุล้วนเป็นจุดสำคัญ ทั้งที่เป็นหน่วยราชการ และเป็นย่านธุรกิจ

ดังนั้น เป้าหมายของคนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้จึงมีความแน่ชัดว่า ต้องการสร้างสถานการณ์

เพียงแต่คำถามต่อไปคือเป็นใครสร้างสถานการณ์ และต้องการอะไรจากการสร้างสถานการณ์ครั้งนี้

ขณะนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกำลังสืบโยงไปถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 คน ที่ก่อเหตุในช่วงกลางคืน

ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ต้องสงสัยดังกล่าวมาจากพื้นที่ภาคใต้

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ระบุว่า ลักษณะการก่อเหตุคล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549

เป็นฝีมือของกลุ่มคนเดิมๆ แนวคิดเดิมๆ

คนร้ายมาจากสำนักเดิมๆ ที่เคยระเบิดป้อมตำรวจหลายจุด

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมอบให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์

มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เชื่อมโยงกับเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ เมื่อปี 2559

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เสมือนท้าทายอำนาจของรัฐบาลใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ในห้วงเวลาที่ไม่มีอำนาจ ม.44 อีกต่อไปแล้ว

แม้ฝ่ายรัฐบาลจะมองว่าเป็นฝีมือของ “กลุ่มเดิม” แต่ก็มีคำถามว่า “กลุ่มเดิม” ที่ว่านั้นบัดนี้มีศักยภาพในการก่อเหตุได้ขนาดนี้หรือไม่

ทั้งการก่อเหตุหลายจุด ทั้งการก่อเหตุในสถานที่ราชการที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล

หากกลุ่มคนร้ายเชื่อมโยงกับเหตุปี 2559 ย่อมหมายถึง การรุกคืบของสถานการณ์ชายแดนใต้

และหากกลุ่มคนร้ายมิใช่เป็น “กลุ่มเดิม” และ “กลุ่มใต้” เท่ากับว่ามีคน “กลุ่มอื่น” ที่ต้องการเขย่ารัฐบาลให้ว้าวุ่นใจ

เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่รัฐยังมีปัญหาเกี่ยวกับศักยภาพในการรักษาความสงบ

จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดเหตุป่วนขึ้น ตารางการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จึงขึ้นตัวแดง

ติดลบลงมาทันที

เหตุการณ์ป่วนการเมืองที่เกิด ส่งสัญญาณความไม่แน่นอน และความไม่น่าไว้วางใจให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

ดูเหมือนว่ารัฐบาลเรือเหล็กบิ๊กตู่ที่กำลังเบนหน้าสู่น่านน้ำ ต้องเผชิญหน้ากับมรสุมอีกลูก

นอกจากมรสุมทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำแล้ว

ยังมีมรสุมจากคนร้ายที่ลอบวางระเบิดป่วนกรุงเทพฯ

ทุกประการที่เกิดขึ้น ล้วนท้าทายฝีมือการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลชุดใหม่

รัฐนาวาเหล็กลำนี้จะต้องเดินสมุทรไปให้ได้

ไม่ว่าฝ่ายที่กำลัง “ราน้ำ” จะเป็นกลุ่มขัดแย้ง “กลุ่มเดิม” หรือ กลุ่มไหนก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image