น้ำ: ตอนนี้ราคาแพงกว่าน้ำมันแล้ว

Processed with VSCO with hb2 preset

 

สภาพสิ่งแวดล้อม – โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการที่เราจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติของเรา (ไม่ว่าจะจัดการได้ดีหรือแย่ก็ตาม) ซึ่งรวมถึงพื้นดิน น้ำ และอากาศ — เป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทวีปเอเชีย แท้จริงแล้วมีประชากรกว่า 4.5 พันล้านคนอาศัยอยู่ในทวีปนี้ ดังนั้น ความพยายามของมนุษยชาติในการพลักดันให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็อยู่ในมือของคนในทวีปนี้นี่ล่ะ

เกือบ 40 ปีที่แล้ว เมืองเจนไน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียและเป็นเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู จมอยู่ใต้น้ำ น้ำท่วมรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นผลมาจากพายุไซโคลนหลายลูกจากอ่าวเบงกอล ได้ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตและการบริการ ที่มีคนงานกว่า 11 ล้านคน ต้องหยุดชะงักแน่นิ่งในขณะที่น้ำกร่อยได้ซัดเข้ามากระทบล้อของฝูงเครื่องบินที่จอดสนิทอยู่ในสนามบินนานาชาติแอนนา โศกนาฏกรรมที่เกิดแก่มนุษย์นี้นั้นใหญ่หลวงนักเพราะมีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คนและมีผู้คนอีกกว่า 1.8 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่

Advertisement

ทุกวันนี้เหตุการณ์กลับตาลปัตรกัน กล่าวคือ เจนไนประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ฝนไม่ตกกว่า 200 วันติดต่อกันแล้ว เขื่อนกักเก็บน้ำหลัก 4 แห่งของเจนไนตอนนี้แห้งผาก น้ำในทะเลสาบเก่าแก่อย่างทะเลสาบเจ็มบะรัมบากกัม (Chembarambakkam Lake) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำตลอดกาลของชาวเจนไนก็เหือดแห้งลงไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามสำหรับ อันบู หนุ่มอายุ 28 ปี ผู้ประกอบอาชีพคนขับรถบรรทุกน้ำแล้ว ปัญหาภัยแล้งซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปีนี้ กลับสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเขา

เป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2558 อันบู ต้องถูกบังคับให้ย้ายออกจากหมู่บ้านปาวันดูร์ (Pavandhur) ของเขา ซึ่งอยู่ห่างจากเจนไนไปทางทิศใต้ประมาณ 250 กิโลเมตร เนื่องจากหมู่บ้านของเขาประสบปัญหาหลายประการ เหนือสิ่งอื่นใดคือปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก

แม้จะได้รับประกาศนียบัตรด้านเซรามิก อันบู เคยคาดหวังไว้ว่าวันหนึ่งเขาจะได้ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยตามรอยบิดาของเขา เขาอธิบายว่า “เมื่อมีน้ำ อ้อยเป็นพืชที่ให้อะไรกลับมาจริง ๆ ”

แต่ ณ ขณะนี้ ที่สถานีซ่อมรถบรรทุก บนริมถนนไฮเวย์ ในเมืองปูนามัลลี (Poonamallee) ในเขตนอกเมืองของเจนไน อันบู ยิ้มร่าขณะที่เขาเอามือตบรถบรรทุกน้ำสีสันสดใสเบา ๆ ด้วยความภูมิใจ เนื่องจากงานของ อันบู ในฐานะคนขับรถบรรทุกน้ำเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบแบบ 24 ชม. ยานพาหนะสีสันสดใสคันนี้ก็ทำหน้าที่เพิ่มเป็น 2 เท่า นั่นคือ มันได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่งให้ อันบู อยู่บ่อยครั้ง

เมื่อตอนที่ “ทีมเรื่องเล่า” ได้พบกับ อันบู ลมที่เต็มไปด้วยฝุ่นได้พัดผ่านลานซ่อมรถซึ่งมีรถบรรทุกน้ำอีก 2 คันจอดซ่อมอย่างเสียงดังอยู่ด้วย อากาศที่ร้อนระอุนี้ทำให้ อันบู ดูแก่กว่าอายุจริง แต่ชายผู้ร่าเริงคนนี้และเพื่อนคนขับรถบรรทุกน้ำร่วมอาชีพ อาจเป็นหนทางเดียวที่กำลังช่วยหยุดยั้งชาวเจนไนหลายพันคนไม่ให้ต้องเสียชีวิตจากปัญหาภัยแล้งที่กำลังเผชิญอยู่

อันที่จริงแล้ว อันบู ขับรถบรรทุกน้ำผ่านทะเลสาบเจ็มบะรัมบากกัมเป็นประจำทุกวัน ซึ่งทะเลสาบแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำสุดท้ายแล้วของเมืองเจนไน แต่ก่อนนั้นเมืองที่ตั้งอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบแห่งนี้เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งตกปลาอันอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีอีกแล้ว

ทะเลสาบเจ็มบะรัมบากกัมถูกสร้างโดยกษัตริย์โชลาหลายพระองค์เมื่อประมาณ 900 ปีก่อน กษัตริย์เหล่านั้นได้สร้างระบบอุทกวิทยา (hydrological system) ที่สลับซับซ้อน ซึ่งประกอบไปด้วยแทงก์เก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ และทะเลสาบ ซึ่งช่วยส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งในภูมิภาคนี้ อันที่จริงแล้วเหล่านี้คือพื้นฐานของโครงสร้างอาณาจักรชายฝั่งทะเลของบรรดากษัตริย์โชลาเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแหล่งกักเก็บน้ำนี้ได้ถูกทดสอบอย่างรุนแรงแล้วว่าเป็นการวางแผนการใช้น้ำที่ไม่ดีเอาเสียเลย

การเจริญเติบโตของเมืองที่ไม่ได้วางแผนอย่างระมัดระวังและรอบคอบไว้ก่อน รวมไปถึงการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่สร้างเหนือทะเลสาบตามธรรมชาติของเมืองเจนไน ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงระบบนิเวศชายฝั่งอันละเอียดอ่อนของป่าชายเลนและเส้นทางน้ำต่าง ๆ ในบริเวรภูมิภาคย่อยอีกใกล้เคียงด้วย

การขุดเหมืองใกล้กับท้องทะเลสาบและการไม่ขุดลอกคูคลองยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่ถูกส่งเข้าตัวเมืองได้ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำเดิม

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โรงกลั่นน้ำทะเลขนาดใหญ่ 3 แห่งต้องทำงานล่วงเวลาและรัฐบาลท้องถิ่นถูกกดดันให้ลำเลียงน้ำโดยใช้รถไฟขนส่งน้ำเข้ามาจากในตัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปบนบก แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหล่านี้ – เช่น การใช้น้ำที่มาจากการขุดเหมือง – เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนับเป็นความท้าทายที่มีมาอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคนี้และภูมิภาคใกล้เคียง กลุ่ม NITI Aayog ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาจัดการน้ำต่อจากคณะกรรมาธิการการวางแผนของอินเดีย (India’s Planning Commission) ประเมินว่า เมืองจำนวน 21 เมืองของอินเดียจะใช้น้ำใต้ดินจนหมดภายในปี พ.ศ. 2563 และเนื่องจากลมมรสุมฤดูฝนที่มาถึงช้ากว่าเดิมมากและอ่อนกำลังลงกว่าเดิมในปีนี้ทำให้เมืองหลายเมืองทั่วอินเดียต้องถูก “บีบน้ำออกมาใช้จนแห้ง” ตามตัวอักษรเป๊ะ ๆ

เจนไนเกือบจะหยุดชะงักเนื่องจากราคาน้ำพุ่งสูงขึ้นพรวด ๆ อันบู กล่าวว่าน้ำปริมาณ 20 ลิตรที่สามารถซื้อขายได้ในราคาประมาณ 25 ถึง 30 อินเดียนรูปี ตอนนี้ซื้อขายกันอยู่ที่ราคา 80 ถึง 100 อินเดียนรูปี ซึ่งหมายความว่าในเชนไนตอนนี้นั้น น้ำมีราคาสูงกว่าน้ำมันแล้ว ซึ่งราคาน้ำมัน ณ ขณะนี้อยู่ที่ 76.18 อินเดียนรูปีต่อลิตร

โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว โดยมีพนักงานกว่า 20,000 คนเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้ในช่วงที่พวกเขาต้องการใช้มันมากที่สุด บริษัทหลายแห่งในเขตอุตสาหกรรมไอทีของเจนไน ซึ่งมีพนักงานทำงานอยู่กว่า 20,000 ตำแหน่ง ได้ขอให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน สำนักงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้บริการรถบรรทุกน้ำแบบเดียวกันกับของ อันบู แต่ตอนนี้ราคาค่าบริการน้ำของ อันบู นั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวแล้ว

ผู้ค้าริมถนนหลายเจ้าที่ “ทีมเรื่องเล่า” ได้มีโอกาสพูดคุยด้วยกล่าวว่า เวลาในช่วงกลางคืนของพวกเขาตอนนี้ถูกใช้ในการค้นหาน้ำเพื่อนำมาใช้อุปโภคและบริโภคภายในครัวเรือนและในธุรกิจของพวกเขาเอง

เรื่องตลกร้ายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ รัฐทางเหนืออย่างรัฐพิหารและรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่างรัฐอัสสัมกำลังถูกน้ำท่วมรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน เป็นข้อพิสูจน์ว่าสภาพอากาศของอินเดียได้เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงและไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลับหูหลับตาพัฒนาประเทศที่รวดเร็วและอันตรายมาก

แต่เมื่อย้อนกลับไปที่เจนไน ความแห้งแล้งแปลความหมายได้ว่าจะมีโอกาสงานให้ อันบู มากขึ้น รถบรรทุกน้ำแบบเดียวกับของ อันบู รับน้ำมาจากหมู่บ้านรอบ ๆ ตัวเมือง โดยอาจต้องขับออกไปไกลจากตัวเมืองถึง 40 กิโลเมตร

เหล่าคนขับรถบรรทุกน้ำจะเติมน้ำลงในถังบรรทุกขนาด 24,000 ลิตร โดยจ่ายเงินให้กับชาวนาเพียง 700 อินเดียนรูปีเพื่อแลกกับน้ำทั้งหมดจากบ่อของชาวนา น้ำปริมาณเดียวกันนี้ซื้อขายในตัวเมืองเจนไนได้ในราคาสูงกว่า 10,000 อินเดียนรูปีเสียอีก

เนื่องจาก อันบู เป็นเพียงพนักงานขับรถเท่านั้น ส่วนแบ่งจึงค่อนข้างน้อย กล่าวคือ เขาได้รับค่าจ้างเพียงแค่ 15,000 อินเดียนรูปีสำหรับการทำงานขับรถ 10 วัน แต่ก็ยังถือว่าได้เยอะอยู่

อย่างไรก็ตาม มีอันตรายจากการทำงานในฐานะคนขับรถบรรทุกน้ำด้วย ซึ่งรวมถึงการที่ชาวนาออกมาประท้วงว่าบรรดารถบรรทุกน้ำเหล่านี้กำลัง “ขโมย” น้ำไปจากหมู่บ้าน

บางครั้งก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วย แม้ว่า อันบู จะกล่าวว่า “โชคดีที่มันไม่เคยเกิดขึ้นกับผมเลย แต่บ่อยครั้งที่คนขับรถบรรทุกน้ำถูกชาวบ้านซุ่มโจมตี ชาวบ้านเอาก้อนหินมาปากระจกรถจนแตกหรือไม่ก็เจาะยางรถ”

เมื่อถูกถามว่าเขาจะอนุญาตให้รถบรรทุกน้ำ ขนน้ำออกจากหมู่บ้านของเขาได้บ้างหรือไม่ อันบู ยิ้มอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า “ผมจะไม่ยอมให้รถบรรทุกน้ำคันไหนขับเข้ามาในเขตหมู่บ้านของผมเด็ดขาด ผมรู้ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นผิด แต่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ทุกคนยอมทำอะไรก็ได้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ดังนั้น ผมจะไม่ขอโทษหรอกนะที่ต้องทำแบบนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image