ปมร้อนท้องถิ่น เขี่ย ‘กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน’ พ้น ‘เขตเทศบาล’

กลายเป็นปัญหาทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจาก “นายยงยศ แก้วเขียว” นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ปลุกกระแสกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบลทั่วประเทศกว่า 2.9 แสนคน ใน 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน ลุกฮือออกแถลงการณ์มอบหมายให้ประธานชมรมทุกจังหวัด ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทย ค้านการยุบเลิกตำแหน่งนักปกครองท้องที่ในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนคร และ ขอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการเลือกตั้งกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง

นายยงยศออกมาขยายประเด็นว่า หลังจากกระทรวงมหาดไทย ประกาศยกฐานะเทศบาลเมือง เทศบาลนคร ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่นที่ได้รับการยกฐานะ เนื่องจากมีการนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทศบาล 2496 มาตรา 4 มาตรา 12 มาตรา 48 บังคับใช้ ทำให้ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ถูกยกเลิกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 มาตรา 3 วรรค 2 แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2552 ระบุว่า การยุบเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะกระทำมิได้

ต่อมาแกนนำกำนันผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดตรังทำหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) ทำให้กรรมการร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยผลสรุปยืนยันว่า ไม่สามารถเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร โดยห้ามนำ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่มาบังคับใช้ แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศเห็นว่า กรรมการกฤษฎีกาเพียงให้ความเห็นจากการตีความ และน่าจะไม่มีข้อยุติ จึงขอให้ผู้มีอำนาจนำข้อร้องเรียนไปพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง เนื่องจาก พ.ร.บ.เทศบาล ในรูปแบบการกระจายอำนาจไม่ควรทับซ้อนกับ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่

นายยงยศยืนยันว่า การเรียกร้องครั้งนี้ไม่มีใบสั่ง ไม่มีมิติเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ผลจากการตีความทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยก ขัดแย้ง มีแต่การยึดประโยชน์ของพรรคพวก หรือกลุ่มการเมือง กลุ่มฐานเสียงของนักการเมือง ขาดตัวแทนที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ และประชาชน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลหรือตรวจสอบจากหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะจะไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับตำบล หมู่บ้าน จึงขอให้ผู้มีอำนาจยกเลิก พ.ร.บ.เทศบาล ทั้ง 3 มาตราเพื่อให้ทุกคนยืนหยัดทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายอำเภอในการรักษาความสงบเรียบร้อย อำนวยความเป็นธรรม และเสริมสร้างความสมานฉันท์

Advertisement

ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ได้สรุปผลจากการศึกษาแนวทางการปฏิรูปเพื่อเสนอกระทรวงมหาดไทย พิจารณาให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่จำกัดวาระ แทนการทำหน้าที่ถึงอายุ 60 ปี ให้ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และให้ผู้ใหญ่บ้านโหวตกันเองเพื่อเลือกกำนัน เพื่อให้กำนันที่ได้รับเลือกจากประชาชนได้รับการยอมรับ ไม่เกิดการผูกขาดอำนาจหรือสั่งสมอิทธิพลในพื้นที่ รวมทั้งให้ประเมินผลการปฏิบัติงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนด

“ล่าสุดเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ส่วนข้อเรียกร้องล่าสุดหลายฝ่ายต้องนำไปพิจารณาความเหมาะสม ความจำเป็นขององค์ประกอบในการบริหารของฝ่ายปกครอง ในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาคและอำนาจหน้าที่ของ อปท.ในรูปแบบการกระจายอำนาจที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง ดังนั้น จะต้องถามกระทรวงมหาดไทยว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีความจำเป็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับภารกิจในการกระจายอำนาจ ผู้มีอำนาจต้องตัดสินใจ และอย่าห่วงเรื่องการทำหน้าที่หัวคะแนน เพราะการเลือกตั้งหลายระดับยอมรับว่าต้องพึ่งพากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนตัวไม่ต้องการเห็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทำงานยาวนาน แต่ควรให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้ตามวาระที่กำหนด” นายเสรีระบุ

ขณะที่ นายชาตรี จันทร์วีระชัย ปลัดจังหวัดระนอง กล่าวว่า การประสานความร่วมมือจากฝ่ายปกครองในพื้นที่เทศบาลเมือง เทศบาลนคร เพื่อดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนหลายด้าน มีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้มีอุปสรรคในการสั่งการพอสมควร บางเรื่องต้องเร่งรัดโดยตรงไปที่ผู้บริหาร อปท. เพื่อขอข้อมูลเร่งด่วน ขณะที่การแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น ปัญหายาเสพติดในเขตชุมชนเมือง มีความจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อดำเนินการตามเบาะแสที่ได้รับการร้องเรียน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือจากประธานชุมชนเท่าที่ควร ขณะที่การเลือกตั้งทุก 5 ปี จะต้องพิจารณาว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่ใช่
นักการเมืองแต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ต้องคำนึงถึงความขัดแย้งจากการเลือกตั้ง

“ปัจจุบันมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามตัวชี้วัดต้องยอมรับว่ามีบางส่วนที่ไม่ทำงาน ไม่ทราบข้อมูลทั้งปัญหายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า เพราะทำงานในหน้าที่ได้ถึงอายุ 60 ปี แต่ขณะนี้ฝ่ายปกครองมีการประเมินผลหลายด้านเพื่อให้ผู้นำท้องที่ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ค่าตอบแทน สิทธิสวัสดิการมีไม่มาก แต่ถ้ามีการเลือกตั้งทุก 5 ปี จะมีปัญหาการละเว้นในการทำหน้าที่บางเรื่อง เพราะบางรายกลัวมีผลกระทบกับฐานคะแนนนิยม” นายชาตรีกล่าว

นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่ที่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจและตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนั้นควรสอบถามประชาชนในเขตเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ว่ามีความต้องการอีกหรือไม่ เนื่องจากการยกฐานะผ่านการทำประชาพิจารณ์ กระทรวงมหาดไทยจึงเห็นชอบให้ยกฐานะ

“สำหรับการทำหน้าที่ของผู้บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร หากมีข้อบกพร่อง มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทำหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงองค์กรอิสระ ที่ผ่านมาฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภาของเทศบาลต้องผ่านการเลือกตั้งตามวาระ ต่างจากกำนันผู้ใหญ่บ้านขณะที่ปัจจุบันบ้านเมืองพัฒนาจากเดิมไปมาก หากจะให้ย้อนกลับไปอดีต ควรสอบถามประชาชนในพื้นที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ” นายศักดิพงศ์กล่าว

ส่วน นายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวว่า การยุบเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นไปตาม พ.ร.บ.เทศบาล เมื่อมีการยกฐานะ ในอนาคตอาจมีปัญหามากขึ้นอีก หากมีการยุบ ควบรวม อปท.ตามแนวทางการศึกษาของสภาการปฏิรูปแห่งชาติ และ สปท.ยืนยันว่ากฎหมาย 2 ฉบับไม่ได้ขัดแย้ง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกฎหมาย ควรสรุปเพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจน กรณีที่กฎหมายระบุว่า จะยุบเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ คงหมายถึงการยุบทั้งหมดทั่วประเทศ ไม่ได้หมายความว่ายุบเลิกในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เนื่องจากกฎหมายเขียนให้พ้นจากหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด โดย พ.ร.บ.เทศบาลใช้คำว่า “หมดไป” ไม่ใช่ยุบเลิก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องชัดเจนและยอมรับตามกติกา สำหรับเทศบาลเมืองพระประแดงไม่เคยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2480

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน เพราะหากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบลทั่วประเทศกว่า 2.9 แสนคน ลุกฮือขึ้นมาจริงๆ อาจสั่นคลอนต่อเสถียรภาพรัฐบาลได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image