ก.เกษตรฯ เล็งวิจัยพันธุ์กัญชาหนุนกำกับดูแลก่อนใช้รักษาโรค

ก.เกษตรฯ เล็งวิจัยพันธุ์กัญชาหนุนกำกับดูแลก่อนใช้รักษาโรค สั่งทูตเกษตรส่องตลาดสมุนไพรวางกลยุทธ์ตะลุยส่งออก

นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า บทบาทของกระทรวงเกษตรฯในการสนับสนุนให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ หรือ กัญชาเสรี ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ จะยังไม่ดำเนินการหรือสนับสนุนแนวความคิดใด แต่กรมวิชาการเกษตรต้องไปศึกษาและวิจัยพันธุ์ของกัญชาที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทย ว่ามีจำนวนกี่พันธุ์ และในแต่ละพันธุ์มีสารเสพติดหรือสารที่ใช้ในการแพทย์มากน้อยเพียงใด เพื่อสรุปได้ว่ากัญชาเพื่อการแพทย์ควรใช้พันธุ์อะไรที่จะเหมาะสมในการดำเนินการเพื่อรักษาโรค

“ต้องยอมรับว่าในกัญชามีสารเสพติด แต่มีตัวยาที่ใช้ในทางการแพทย์ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งเสริม และความต้องการ รวมทั้งเพื่อการควบคุม ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ เพื่อการกำกับดูแลด้วย” นายระพีภัทรกล่าว

นายระพีภัทรกล่าวว่า ได้สั่งการให้อัครราชทูต อัครราชทูตที่ปรึกษา และกงสุลเกษตรทั้ง 11 แห่งทั่วโลก สำรวจความต้องการและร่วมวางกลยุทธ์ เพื่อส่งสมุนไพรไทยไปเปิดตลาดในต่างประเทศ หลังกระแสความนิยมของต่างประเทศเพิ่มขึ้นในการใช้สมุนไพร เพราะไม่มีสารพิษตกค้างและไม่มีผลข้างเคียง ราคาค่ารักษาต่ำ จึงเป็นโอกาสเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร หลังแนวโน้มความนิยมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยส่งออกสมุนไพรประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี มูลค่าตลาดโลกมีประมาณ 92,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.76 ล้านล้านบาท

Advertisement

นายระพีภัทรกล่าวว่า ต่างประเทศที่นิยมใช้สมุนไพรมากสุดคือ ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ส่วนประเทศที่มีโอกาสทางการค้ามี 3 ประเทศคือ จีน เวียดนามและญี่ปุ่น ในส่วนประเทศจีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคสมุนไพรมากตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา หรือในช่วงปี 2557-2559 มีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้นดูได้จากตัวเลขของการส่งออกสมุนไพรไทยไปจีน 136.66 ล้านบาท

นายระพีภัทร กล่าวว่า ในปี 2560 พบว่าไทยมีเนื้อที่ในการเพาะปลูกสมุนไพรเพียง 32,200.76 ไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 149.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเพียง 0.02% การปลูกสมุนไพรของเกษตรกรยังมีจำนวนที่น้อยมากเพียง 0.20% ของครัวเรือนทั้งหมด หรือ 12,235 ครัวเรือน การปลูกพืชสมุนไพรส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกในรูปของเกษตรรายย่อย ประมาณ 10,000 ครัวเรือน และมีการรวมกลุ่มแบบวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชสมุนไพร ประมาณ 315 กลุ่ม วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่า ประมาณ 1,929 กลุ่ม

นายระพีภัทร กล่าวว่า พื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณ พื้นที่ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ สมุนไพรที่ปลูกมากที่สุด คือ พริกไทย กฤษณา ขมิ้นชัน ส้มแขก และว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด เช่น กระเจี๊ยบแดง กระชายดำ กระวาน ขมิ้นชัน คำฝอย ฟ้าทะลายโจร มะระขี้นก ว่านชักมดลูก และมะแขว่น เป็นต้น

Advertisement

“ส่วนสมุนไพรที่มีมูลค่าสูงสุดต่อกิโลกรัม คือกฤษณา คำฝอย พริกไทย ขมิ้นชัน บัวบก และกระชายดำไพล สำหรับคู่แข่งด้านสมุนไพรในอาเซียน คือประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย โดยมาเลเซียมีประชากรอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวนมากทำให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพมากขึ้น และยังมีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากจีนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและมีโรงงานแปรรูปที่มีศักยภาพมากกว่าไทยและยังมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า” นายระพีภัทรกล่าว

นายระพีภัทร กล่าวว่า ส่วนอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการใช้สมุนไพรมาอย่างยาวนานและมีสมุนไพรหลายประเภทที่คล้ายกับไทยแตกต่างแค่ในเรื่องการนำมาใช้ประโยชน์ สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าที่คนอินโดนีเซียนิยมบริโภค คือ อาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ไทยต้องเดินหน้าพัฒนาส่งเสริมและหาตลาดให้พืชสมุนไพร เพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการปลูกสมุนไพรเหล่านี้ทดแทนการปลูกข้าวรอบ 2-3 อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image