บทความ : โรงเรียนที่หายไป โดย : สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์

ปี 2561 ประเทศไทยมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 30,112 โรง กว่าครึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,089 โรง คิดเป็นร้อยละ 50.11 และมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนจำนวน 1-20 คน ประมาณ 800 โรงทั่วประเทศ ซึ่งมีการสื่อสารจากภาครัฐออกมาว่าโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้กำลังจะถูกยุบ

โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรง สะท้อนภาพปัญหาอะไรบ้าง? ความเหลื่อมล้ำในเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา ครูไม่ครบชั้นเรียนและไม่ครบ 8 กลุ่มสาระวิชา อุปกรณ์ทางการศึกษามีไม่เพียงพอ การได้รับงบประมาณการพัฒนานักเรียนน้อย มีต้นทุนการบริหารจัดการรายหัวสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ถึง 1.3 เท่า ภาวะเด็กเกิดน้อยในชุมชน การโยกย้ายถิ่นของผู้ปกครองเด็กเข้าสู่เมือง และอีกหลากหลายปัญหาที่ยังคงวนลูปและยังไม่ได้รับการแก้ไข จากงานวิจัยของธนาคารโลกแสดงหลักฐานชัดเจนว่าการขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบ ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรครูและทรัพยากรให้เพียงพอกับทุกห้องเรียนนั้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล คำถามสำคัญคือประเทศไทยไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจริงหรือ? และรัฐในฐานะผู้กุมอำนาจในการจัดการการศึกษาได้ลงทุนคิดค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

ก่อนหน้านี้ มีกรณีตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็กที่เห็นได้ชัดเจนคือโรงเรียนบ้านขุนสมุทรที่ชุมชนขุนสมุทรจีน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำจังหวัดสมุทรปราการ แม้ว่าโรงเรียนนี้จะอยู่ไม่ไกลมาจากเมืองหลวงของประเทศมากนัก แต่กลับไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องอาศัยการสัญจรทางเรือเท่านั้น ด้วยความยากลำบากในการเดินทางเป็นเหตุให้ครูหลายๆ คนต้องยอมแพ้และละทิ้งโรงเรียนไป ผู้ปกครองขาดความเชื่อมั่นในการส่งลูกมาเรียน ทำให้ปัจจุบันมีนักเรียนเหลืออยู่ 6 คน กับครูอีก 1 คน ที่ทำหน้าที่สอนทุกรายวิชาตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ป.6 ปัจจุบันนี้เด็กๆ ทั้ง 6 คนกำลังเป็นนักเรียนทดลองย้ายเข้าไปเรียนในโรงเรียนบ้านขุนสมุทรไทย ซึ่งต้องอาศัยการเดินเท้า 30 นาที และต่อด้วยเรืออีก 15 นาที กว่าจะเดินทางถึงโรงเรียนใหม่ ซึ่งภาพเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบควบรวมไปก่อนหน้านี้แล้ว

จากกรณีข้างต้น เรามองเห็นปัญหาสำคัญคือรัฐมีวิธีคิดตั้งต้นที่ว่าโรงเรียนคุณภาพไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน แต่ให้นิยามโรงเรียนคุณภาพว่าคือโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับและทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี จึงทำให้เกิดโรงเรียนแม่เหล็กในการดึงเด็กออกจากโรงเรียนชุมชนเข้าไปเรียนในเมือง แต่เมื่อเรามองตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มีความหลากหลายแล้วนั้น โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ยากลำบากยังคงจำเป็นต้องมีอยู่ แม้ว่าทางคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่เรียกว่า “SCC” ได้แก่ โรงเรียนห่างไกลที่ไม่ควรปิด (Stand Alone) โรงเรียนใกล้กันควรควบรวม (Combine) และโรงเรียนสมควรถูกปิดหรือยุบ (Close) แต่เมื่อนำเกณฑ์เรื่องคะแนนผลสัมฤทธิ์ O-Net เข้ามาเป็นตัวตัดสินร่วมด้วย จึงมีโอกาสสูงมากที่โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้จะถูกยุบหากผลสัมฤทธิ์ของเด็กต่ำกว่าเกณฑ์

Advertisement

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าปัญหาการศึกษาไทยมาจากการจัดการเชิงโครงสร้างจากส่วนกลางที่ขาดประสิทธิภาพ การจัดอัตราครูที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าการยุบโรงเรียนไม่ใช่ทางออกของปัญหาเหล่านี้ เพราะผู้รับผลกระทบโดยตรงย่อมตกอยู่กับผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง ทั้งในแง่ของการใช้เวลาเดินทางที่ไกลขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นจากการเดินทาง และปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนใหม่ที่ในบางครั้งส่งผลให้เด็กบางคนถูกรังแก ซ้ำยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อชุมชนในแง่ที่ว่าเด็กในฐานะสมาชิกของชุมชนขาดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของของชุมชน ไม่รู้สึกยึดโยงกับชุมชน ท้ายที่สุดก็ต้องละทิ้งชุมชนเข้าไปทำงานในเมืองเมื่อจบการศึกษา

เมื่อประเด็นเรื่องคุณภาพการศึกษาถูกมองแยกส่วนกับความเป็นชุมชน ความไม่ไว้วางใจให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลานของตนเอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชนไม่ถูกนับรวมในฐานะผู้จัดการศึกษา แม้จะมีนโยบายการถ่ายโอนการศึกษาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการโรงเรียน แต่ก็ยังพบว่าชุมชนยังเข้ามามีส่วนร่วมน้อยมาก จากบริบททางสังคมที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชนการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลจึงต้องเน้นการสร้างทางเลือกที่หลากหลายโดยยังคงยึดมาตรฐานเรื่องการอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ

เราพบตัวอย่างการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่ต้องอาศัยการยุบโรงเรียน ทั้งการสร้างเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อใช้ทรัพยากรและจัดการเรียนการสอนร่วมกันที่กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กเกาะคา 1 อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ดำเนินการผ่านโครงการวิจัย หรือการสร้างหลักสูตรภูมิสังคมและการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัยที่โรงเรียนวัดหน้าเมืองและโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก จังหวัดสตูล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน หรือการให้ปราชญ์ชุมชนเข้ามาหมุนเวียนให้ความรู้เด็กๆ เพื่อถ่ายทอดทักษะชีวิต และการใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์โดยตรงที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียร จังหวัดยโสธร ซึ่งแนวทางเหล่านี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่สามารถลงไปศึกษาดูงานและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงได้

Advertisement

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กคือภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยที่ชัดเจนมากที่สุด ในภาวะที่อนาคตทางการศึกษาของเด็กไทยถูกกำหนดตัวเลือกไว้ให้แล้ว สิทธิทางการศึกษาที่มีอยู่แต่กลับไร้คุณภาพ และโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพยังไม่มีอยู่จริง จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันขององค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการศึกษา ทั้งศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน (CYD) ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) SDG Move มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civic Education) และเครือข่ายครู Critizen เพื่อจัดเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็น “การศึกษาเพื่อความเท่าเทียมกับโรงเรียนที่หายไป” ในวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00-15.00 น.
ห้องประชุมศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสียงสะท้อนให้เห็นว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่ทางออกของทุกกรณี ภายในงานจะมีการพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกยุบโรงเรียน พร้อมชี้ให้เห็นว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กกระทบสิทธิเด็กในแง่ใดบ้าง รวมไปถึงการนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และการชี้ให้เห็นว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างไร ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page ActionAid Thailand

คงจะไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่าโรงเรียนคือจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมสำหรับเด็กและเป็นพื้นที่ที่เด็กใช้เวลามากที่สุดรองจากบ้าน เป็นทั้งพื้นที่กายภาพและพื้นที่ปะทะสังสรรค์ทั้งในเชิงความคิดและความรู้สึก

หากโรงเรียนใกล้บ้านหายไปนั่นแปลว่าโอกาสในการทำความรู้จักกับสิ่งรอบตัวตามช่วงวัยที่กำลังเติบโตและพร้อมเรียนรู้ก็จะน้อยลง พื้นที่กลางที่เด็กสามารถใช้เวลาเพื่อค้นหาตนเองก็จะหายไป ต้นทุนทางสังคมและความเป็นชุมชนในฐานะแหล่งเรียนรู้คงหลงเหลือไว้เพียงแค่เรื่องเล่า การยุบโรงเรียนจึงไม่ใช่แค่การย้ายโรงเรียนแต่เป็นการย้ายความสัมพันธ์ที่อาจมาพร้อมกับการสูญเสียบางอย่างที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน
และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image