เมืองปลอด-ภัยในมิติการพัฒนาเมืองกับความมั่นคง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯในสัปดาห์ก่อน มักจะถูกอธิบายและตั้งข้อสงสัยกันในเรื่องของมิติทางการเมืองอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของข้อสงสัยว่าใครเป็นคนทำ และแรงจูงใจอะไรที่อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่งก็มีความรู้สึกและอารมณ์คนส่วนหนึ่งที่ออกมาไม่ค่อยจะพอใจว่า ทำไมรัฐบาลจะต้องออกมาบอกว่าประชาชนต้องช่วยรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ นี่คือหน้าที่ของรัฐบาลที่ใช้ข้ออ้างของความสงบในการเข้าคุมอำนาจเมื่อห้าปีก่อน และยังมีการรณรงค์ในแคมเปญทำนองนี้ของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อหัวหน้าคณะรัฐประหารคนเดิมมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งในการรณรงค์เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ผมอยากนำเสนอเรื่องอีกมุมหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมีการพูดกันมากนัก ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในปัจจุบัน นั่นก็คือประเด็นเรื่องของ “ความมั่นคงในระดับเมือง” (urban security) ซึ่งในปัจจุบันนั้น นอกจาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งโครงการความมั่นคงศึกษา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และพยายามนำเสนอความรู้และข้อเสนอแนะมากมายแล้วก็ยังไม่ค่อยเห็นมีใครพูดกันนัก โดยเฉพาะในหมู่นักวางผังเมือง นักออกแบบเมือง และสถาปนิกเมือง

จะว่าไปแล้ว แนวคิดเรื่องความมั่นคงของเมืองในมุมนอกเหนือจากความมั่นคงในแบบกองทัพและตำรวจนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแยกไปจากความเข้าใจของนักวางผังเมืองหรอกครับ เพราะนับตั้งแต่ในยุคโบราณนั้น เมืองในอดีตนั้นนอกจากจะมีมิติทางด้านเศรษฐกิจคือเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนสินค้ากันแล้ว เมืองก็ยังทำหน้าที่ทั้งเป็นศูนย์กลางทางอำนาจ และยังจะต้องมีมิติของการป้องกันภัยทั้งอาชญากรรมภายในและภัยจากภายนอกเมือง

Advertisement

ในแง่นี้ การมีคูเมือง มีกำแพงเมือง มีป้อมปราการ และมีการวางเส้นถนนในเมืองที่ทำให้สามารถเข้าถึงชุมชนต่างๆ ในการบรรเทาสาธารณภัยก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในเมือง

ในอีกด้านหนึ่ง นักผังเมืองและนักออกแบบนโยบายเมืองก็คุ้นชินกับคำว่า “ความมั่นคง” มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงในเรื่องที่พักอาศัย ความมั่นคงในเรื่องของอาหารในเมือง (ว่าจะมีอาหารพอเลี้ยงคนในเมืองไหม) รวมไปถึงมิติใหม่ๆ อย่างเรื่องของความคงทนและฟื้นตัวจากความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่เรารู้จักกันในนามของ resilience

การศึกษาเรื่องของความมั่นคงของเมืองในมิติด้านความปลอดภัยของเมืองนั้นกลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้นในโลกตะวันตกนับตั้งแต่การมีเหตุระเบิดจากการก่อวินาศกรรมร่วมสมัยในหลายๆ แห่ง

Advertisement

การใช้คำว่ากลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าความสนใจเดิมในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในเมืองหายไปแล้วย้อนกลับมาใหม่

แต่หมายถึงว่าความสนใจในเรื่องของความมั่นคงในเมือง โดยเฉพาะจากการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม และอาชญากรรมในเมืองถูกอภิปรายในมุมมองใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารเมืองอย่างสร้างสรรค์และกระตือรือร้น (active citizens) ไม่ใช่แค่ผู้ถูกปกป้องโดยรัฐที่ช่วยตัวเองไม่ได้ และในห้วงขณะของการถูกปกป้องก็จะถูกพรากสิทธิเสรีภาพของตนเองไปด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในสังคมที่เชื่อว่าเมืองเป็นรากฐานสำคัญต่อประชาธิปไตย และความเป็นเมืองต้องมีมิติของความเป็นประชาธิปไตยอยู่เป็นหัวใจสำคัญ (democratic urbanity) และไม่ใช่มองว่าเมืองจะต้องถูกปกครองเฉพาะจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นนักผังเมือง สถาปนิกเมือง นักออกแบบเมือง วิศวกรเมือง วิศวกรจราจร นักสิ่งแวดล้อม

การตั้งคำถามกับบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และกระตือรือร้น (active) ในภารกิจในด้านการดูแลความมั่นคงของเมืองนั้น เป็นการตั้งคำถามในระดับรากฐานกับการบริหารจัดการความมั่นคงในเมือง และน่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญว่า ถ้าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคง ความสงบ และความปลอดภัยในเมือง รวมทั้งการฟื้นสภาพเมืองหลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม หรือการก่อการร้ายนั้น พวกเขาจะต้องทำอะไรบ้าง

ที่สำคัญ การมีส่วนร่วมของพลเมืองนี้จะต้องไม่ใช่การที่เข้าไปรับผิดชอบงานทางความมั่นคงแทน หรือเป็นเพียงแค่คนที่ด้อยอำนาจจะต้องเชื่อฟังรัฐบาลในแบบที่ตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้ และจัดการชีวิตของตัวเองไม่ได้เพราะต้องรอการปกป้องคุ้มครองจากรัฐบาลตลอดเวลา หรือเป็นเพียงกลุ่มคนที่เป็นหูเป็นตาและรอฟังคำสั่งจากรัฐบาลเท่านั้น

หากมองการเคลื่อนไหวของการสร้างความมั่นคงให้เมืองในปัจจุบันนั้น เราอาจจะแบ่งการเคลื่อนไหวออกเป็นสองแบบ

หนึ่งคือ การย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการทหารและตำรวจในรูปแบบเดิม เพิ่มเติมคือการเพิ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในแง่นี้ก็คือการพยายามสร้างผนังทองแดงกำแพงเหล็ก หรือการจำกัดวงล้อมของภัย และพื้นที่ที่จะต้องปกป้องของเมือง โดยการตีเขตเส้นแห่งความมั่นคงในแบบใหม่ๆ เช่น การประกาศพื้นที่พิเศษ การนำกำลังตำรวจทหารมาปิดกั้นพื้นที่ เอาลวดหนามกั้น การสร้างจุดตรวจ และการประกาศ ห้าม หรือไม่ห้ามใช้พื้นที่ต่างๆ

การกระทำดังกล่าวยังรวมไปถึงการติดกล้องวงจรปิดของรัฐในพื้นที่ต่างๆ  สิ่งนี้คือการพยายามวางกรอบพรมแดนใหม่ (rebordering or reterritorializing) กับพื้นที่เมือง ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างจุดตรวจ ประตูเมืองและสร้างป้อมปราการ หรือประกาศเขตเฉพาะในส่วนต่างๆ ของเมืองที่จะต้องตรวจตรา

สอง คำถามร่วมสมัยที่มีต่อการสร้างความมั่นคงเมืองในแบบนี้ก็คือ การบริหารจัดการความมั่นคงเมืองในแบบนี้ไม่ได้สร้างอำนาจให้กับประชาชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุมชนในเมือง และไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลจากรัฐ อาทิ การตั้งคำถามว่าตกลงกล้องวงจรปิดนั้นของปลอมหรือของจริง หรือกล้องวงจรปิดนั้นใช้ได้หรือไม่ และทำให้พวกเขานั้นจะต้องหวาดหวั่นกับภัย และในบางครั้งการกระทำในนามของการดูแลความมั่นคงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจับกุมคนร้ายเท่ากับการได้ประโยชน์จากสถานการณ์เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจสามารถสืบสานอำนาจของเขาต่อไป และยิ่งทำให้ประชาชนถูกควบคุมตรวจสอบและสอดส่องจับตา (surveillance) มากกว่าเดิม

มากกว่าที่รัฐจะไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุว่า การก่อวินาศกรรม การก่อการร้ายเกิดขึ้นจากอะไร และรัฐไปสร้างปัญหาให้กับคนเหล่านั้นที่ออกมาก่อวินาศกรรมหรือไม่

การไม่สามารถต่อรองตรวจสอบ และบริหารจัดการชีวิตของประชาชนเองท่ามกลางภัยจากการก่อวินาศกรรมนี้ ยังอาจจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดข้ออ้างในการสกัดกั้นเสรีภาพของประชาชนในแง่ของการนำเอามิติด้านการก่อวินาศกรรมนี้มาเป็นเงื่อนไขในการห้ามชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่มีข้อสังเกตอยู่หลายประการว่าในพื้นที่ชุมนุมในหลายครั้งประชาชนสามารถที่จะมีชีวิตอยู่กับการชุมนุมได้ และทำมาหากินในพื้นที่เหล่านั้นโดยไม่ได้เห็นว่าเป็นภัยกับธุรกิจและชีวิตประจำวันของพวกเขาอยู่บ่อยๆ (หากพวกเขามีจุดยืนไปในทางเดียวกัน อาทิ ในเหตุการณ์ในประเทศไทย ที่การชุมนุมบางครั้งในพื้นที่เศรษฐกิจก็ไม่ถูกร้องเรียนจากชุมชนธุรกิจในย่านนั้น แต่บางครั้งก็ถูกร้องเรียน)

อีกประการหนึ่งที่เป็นรากฐานทางทฤษฎีของการพยายามมีส่วนร่วมของพลเมืองในการบริหารจัดการความมั่นคงในเมืองนั้นเกิดจากแนวคิดที่ว่าในโลกปัจจุบันนี้เป็นโลกแห่งความเสี่ยง (risk society) และในโลกแห่งความเสี่ยงนี้เองที่รัฐไม่สามารถที่จะบริหารงานในแบบเดิมที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ได้

ดังนั้นบทบาทของประชาชนพลเมืองจึงมีความสำคัญต่อการเข้ามาร่วมบริหารจัดการรัฐ

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำได้ก็คือ เรื่องของการพูดคุยกับชุมชน (รวมทั้งชุมชนธุรกิจผู้ประกอบการ) และประชาชนผู้ใช้พื้นที่เสี่ยงต่างๆ ว่า พวกเขาผ่านเหตุการณ์วันนั้นมาได้อย่างไร ในช่วงที่มีสถานการณ์วิกฤตพวกเขารู้สึกว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง เขาต้องการข้อมูลอะไรบ้างที่ขาดไป หรือที่เคยให้ไปที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต และมีชีวิตที่มั่นคง รอด และปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว และจากนี้ไป อะไรคือข้อมูลที่เขาต้องการจะทราบบ้างในเรื่องของการเตือนภัย

ไม่ใช่มาเจอกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ยังไม่ทันจับคนร้ายได้ในตอนแรกก็รีบสรุปว่าเป็นกลุ่มเดิมๆ หรือหน่วยราชการที่บอกให้ประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ และอ้างว่าหน่วยงานความมั่นคงได้รับการแจ้งเตือนมานานแล้วแต่ไม่เห็นมาตรการอะไรออกมาเลยสักอย่างจนกระทั่งเกิดเหตุวินาศภัยขึ้น

การประชุมหน่วยงานของรัฐต่อสถานการณ์เหล่านี้ควรจะต้องรวมไปถึงเรื่องของการเรียกชุมชนที่อยู่ในบริเวณนั้นเข้าไปมีส่วนร่วม และถ้าเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจ บรรดาชุมชนธุรกิจ เขต และประชาชนที่ใช้พื้นที่จะต้องได้รับรู้ข้อมูลและเข้าร่วมเสนอความเห็นในการแก้ปัญหาในส่วนนี้เพราะเขาใช้ชีวิตและเป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านั้น

รูปแบบของกรรมการเฉพาะกิจร่วมหลายฝ่ายที่รวมทั้งประชาชน และโลกออนไลน์น่าจะมีส่วนสำคัญในการสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่ และตรวจสอบและประเมินความสามารถในการสื่อสารในยามวิกฤตและในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งก่อนภัยมา เมื่อภัยมาและหลังวินาศภัยจบลง รวมทั้งคำนึงถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เสี่ยงต่อวินาศภัยเป็นพิเศษ อาทิ พี่ๆ ที่กวาดถนน เก็บขยะ หรือหาบเร่แผงลอย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในพื้นที่ที่ต้องอยู่ประจำจุด ตลอดจนการริเริ่มออกแบบวิธีการสื่อสารและเตือนภัยกับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่จริงและคนที่มาใช้บริการ และ ผ่านไปผ่านมาในพื้นที่ ด้วยท่าทีการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนโดยประชาชนเองก็อาจจะลดการตื่นตระหนกและสร้างความหวาดกลัวที่ไม่จำเป็นลง เมื่อพิจารณาถึงท่าทีการสื่อสารของรัฐ โดยเฉพาะหากรัฐไม่ได้รับการยอมรับเชื่อถือเพราะขาดความชอบธรรมและถูกเคลือบแคลงสงสัยจากคนจำนวนไม่น้อยในสังคม

นอกจากนี้การศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับรัฐ และชุมชนประชาชนในเรื่องของรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่และการออกแบบพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญต่อการนิยามและยกระดับความปลอดภัยของเมืองให้เพิ่มขึ้น

“เมืองปลอด-ภัย” ในความหมายนี้จึงเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับพลเมืองและเพิ่มความปลอดภัยได้โดยไม่ลดทอนอำนาจของประชาชนพลเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นเจ้าของเมืองนั้นครับ

หมายเหตุพัฒนาจาก J.Coaffee and P.Roger. 2008. Rebordering the City for New Security Challenges: From Counter-Terrorism to Community Resillience. Space and Polity. 12:1, 101-108.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image