ก.เกษตรฯ อัดงบประกันราคาสินค้าเกษตร กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท หวังเอาใจเกษตรกร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการในการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่า เนื่องจากการกำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรฯ มาจากรัฐมนตรีทั้ง 4 พรรค แต่มีนโยบายที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการทำงานหลังจากนี้ต้องบูรณาการร่วมกันโดยยึดเกษตรกรเป็นหลัก และใช้ตลาดนำการเกษตร การผลิตสินค้าแต่ละชนิดต้องมีปริมาณ คุณภาพ ตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาล้นตลาดอีกต่อไป

ทั้งนี้ การใช้ตลาดนำการเกษตรดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ต้องบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงด้วย โดยในช่วง 1-2 วันนี้ คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะแถลงข่าวเรื่องการประกันรายได้ ในเบื้องต้นจะนำนโยบายดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อใช้งบดำเนินการรวม 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท

“งบประมาณดังกล่าว ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยระบุว่าให้ใช้งบประมาณที่แต่ละกรมมีอยู่ไปก่อน หากไม่เพียงพอ หรือไม่มีจริงๆ ให้เสนอขอจากงบกลาง ซึ่ง 2 กระทรวงจะหารือในรายละเอียด อาทิ ด้านราคา ระยะเวลาในการประกันรายได้ จำนวนเกษตรกร จำนวนพื้นที่ และผลผลิต เป็นต้น ซึ่งในส่วนของข้าวคาดว่าจะอยู่ที่ 1 หมื่นบาทต่อตัน ปาล์มน้ำมัน 4 บาทต่อกิโลกรัม และยางพารา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การประกันรายได้จะดำเนินการจนกว่าจะมั่นใจว่าเกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นจะใช้มาตรการอื่นต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปรับต้นทุนการผลิตใหม่ทั้งหมดในทุกสินค้าให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมทั้งการชดเชยเมื่อพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอให้ครม.พิจารณาไปแล้ว โดยการจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบต่างๆ จะต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้เงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริงด้วย

Advertisement

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น จึงมอบนโยบายเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติ อาทิ การแก้ราคาสินค้าเกษตร หากถึงคราวจำเป็นสามารถประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ให้ทำทันที ไม่ต้องรอเอกสาร แต่ให้นัดหารือเพื่อให้การทำงานคืบหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างกรณีเรื่องยางพารา ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อให้นำไปใช้ทำเป็น กรวย แบริเออร์ หรือเครื่องกีดขวางบนถนน นอกเหนือจากการทำถนน โดยทั้ง 2 กระทรวงจะทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกันในเร็วๆ นี้

“นอกจากนี้ อยากให้ทุกหน่วยงานช่วยกันผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศให้ความสำคัญกับสุขภาพ และคุณภาพสินค้ามากขึ้น โดยให้ร่วมกันบูรณาการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรลง แต่ต้องมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพื่อสื่อให้ต่างประเทศรู้ว่าไทยเจริญแค่ไหนแล้ว” นายเฉลิมชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image