‘จุรินทร์’ เดินหน้าประกันรายได้เกษตรกร-คุมค่าครองชีพ ลุยถกเอกชนฟื้นส่งออกรับมือพิษเทรดวอร์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดดำเนินงานที่ประชาชนอยากเห็น เร็วที่สุดโดยมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องแรก การประกันรายได้เกษตรกรเพื่อช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถยังชีพได้ เพราะหัวใจสำคัญ คือ เกษตรกร โดยตามนโยบายกำหนด 5 พืชเกษตร คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด โดยหลักการประกันรายได้ คือ จะจ่ายชดเชยส่วนต่างจากราคาที่ตั้งไว้ และราคาในตลาดโลก เช่น หากตั้งว่าราคาข้าวที่เหมาะสมอยู่ที่ข้าวเกวียน 10,000 บาทต่อตัน ส่วนราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน จะมีช่องว่างหรือส่วนต่าง 2,000 บาทให้เษตรกร แต่รัฐบาลจะชดเชยตลอดไปเป็นภาระงบประมาณ ดังนั้นจะต้องเพิ่มเพิ่มคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อให้ราคาตลาดปรับเพิ่มขึ้น ส่วนพืชอื่นๆ จะมีมาตรการช่วยเหลือเช่นกันแต่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม เรื่องที่สอง การเข้าไปดูแลควบคุมราคาสินค้าเพื่อดูแลค่าครองชีพและดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม เพราะเมื่อเพิ่มรายได้แล้วต้องควบคุมรายจ่ายเพื่อให้เหลือเงินออม และเรื่องที่สาม แม้ว่าขณะนี้ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน แต่จะต้องผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกยุคนี้ภาคเอกชนที่มีประสบการร์การค้าและทำรายได้เข้าประเทศตัวจริงจะเป็นทัพหน้า ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะเป็นทัพหนุน หากเอกชนขาดเหลืออะไรภาครัฐจะเข้าไปช่วยคลี่คลายขจัดปัญหาเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยไปรบชนะในต่างแดน

“กระทรวงพาณิชย์จะตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) เพื่อให้เป็นเวทีและกลไกสำคัญในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี ผม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีตัวแทนเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือ(สรท.) สมาคมธนาคารไทย โดยจะประชุมนัดแรกวันที่ 14 สิงหาคมนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือเร่งรัดการส่งออกในระยะต่อไป ภายใต้กลยุทธ์ 1.รักษาและขยายตลาดเดิม โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและการค้าชายแดน จะมีการจัดเวทีในพื้นที่ด่านชายแดนต่าง ๆ เพื่อพบปะเอกชนว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรหรือไม่และจะมีการหารือร่วมประเทศเพื่อนบ้านด้วย 2. เปิดตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อเมริกาใต้และตะวันออกกลาง และ 3.ฟื้นตลาดเก่าที่เคยขยายตัวดี เช่น ตลาดข้าวในอิรัก จอร์แดน เป็นต้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออกปีนี้ให้มากขึ้นหรือให้ลดน้อยที่สุด” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องที่สี่ คือ การเจรจาระหว่างประเทศที่ค้างท่อต้องมาเร่งดำเนินการ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ อาเซ็ป หรืออาเซียน+6 (จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยการประชุมล่าสุดที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 16 ประเทศ จะผลักดันทำให้เสร็จในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และปี 2563 จะลงนามให้เรียบร้อย ซึ่งอาเซ็ปเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรรวมกว่า 3,500 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมูลค่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก หรือจีดีพีรวมกัน 30% ของโลก โดยหากสามารถบรรลุความตกลงกันได้ สินค้าสำคัญที่ไทยสามารถส่งออกไปได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ อาหาร เป็นต้น และจะเร่งฟื้นการเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป(อียู) หลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยได้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมข้อมูลแล้ว จะนำเสนอขอกรอบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ส่วนผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการหลายกระทรวงเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ดี มองว่าหากยืดเยื้อจะส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา แต่ขณะนี้เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างจึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะรุนแรงเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image