ทวงถามถึง Road map การเลือกตั้งท้องถิ่น : ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เคยอภิปรายหารือในการประชุมสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงถามรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้มีการกำหนดห้วงเวลาการเลือกตั้ง หรือให้รัฐบาลจัดทำ Road map การเลือกตั้งท้องถิ่นให้ทราบโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ เพราะผมเห็นว่าปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ประกาศใช้แล้วให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2562 ซึ่งเห็นว่าในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ระบุว่า “ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ หรือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใด นอกจากครบวาระ เว้นแต่ในกรณีของสมาชิกสภาท้องถิ่นถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้”

เมื่อพิจารณาความในมาตรา 11 ที่อ้างถึงก็จะพบว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ โดยข้อเท็จจริงตามกฎหมายดังกล่าวผู้ที่ดำรงตำแหน่งวาระก็ถือว่าหมดวาระไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้นั้นอาศัยประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 142(1) ถึง (7) ซึ่งจะเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่งได้อานิสงส์ของดการเลือกตั้ง ทำให้มีการขยายเวลาการเลือกตั้งไปแล้วส่วนหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 1-3 ปี และสามารถบริหารงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าภายหลังจากการที่มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากกระบวนการการเลือกตั้งตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์แล้วนั้น ในขณะนี้เห็นว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ในมาตรา 142 วรรคแรกและวรรคท้ายระบุว่า การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ

Advertisement

ดังนั้น Road map การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีจะต้องกำหนด Road map การเลือกตั้งท้องถิ่น

ผมจึงเห็นว่า ในห้วงเวลานี้ได้มีความตื่นตัวและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่เป็นระยะๆ จนกลายเป็นกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งในระดับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมืองพัทยา และการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมไปถึงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น โดยกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากในส่วนของพรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้บริหารท้องถิ่นในระดับต่างๆ ลงสมัคร หรือกระแสทวงถามจากผู้บริหารท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังเตรียมการลงสมัครเลือกตั้งโดยอิสระ

ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้เห็นว่าสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มมีการเคลื่อนไหวของผู้สมัครทั้งที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเกิดขึ้น และมักจะทวงถามความชัดเจนอยู่เสมอๆ ว่าสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะมีห้วงเวลาอย่างไร และรอคอยความชัดเจนจากรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งนี้ เพราะสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีทั้งงบประมาณ อัตรากำลังของบุคลากร ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการที่จะทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนและการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอีกมาก และในขณะเดียวกันการปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นการกระจายอำนาจในการที่จะแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาล

Advertisement

ในปัจจุบันมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รอเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา “จุดเด่นของการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสองประเภทดังกล่าว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยา ส่วนการเลือกตั้งประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มี 76 แห่ง จุดที่น่าสนใจนั่นก็คือ การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด” และในเขตเทศบาลนครขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ รวม 30 กว่าแห่ง นั่นคือการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในเขตเทศบาลนคร

นอกจากนี้ก็เป็นการเลือกตั้งในเขตเทศบาลเมือง ประมาณ 176 แห่ง เทศบาลตำบล ประมาณ 2,200 กว่าแห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อีกประมาณ 5,000 กว่าแห่ง

จึงเห็นได้ว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นมีทั้งประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และเมื่อคำนึงถึงจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเห็นว่ามีเป็นปริมาณจำนวนมาก และเห็นว่า “การกำหนดห้วงเวลา หรือ Road map หรือเลือกตั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะจัดลำดับว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดก่อนหลังอย่างไร” อาทิ จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. และนายก อบจ. หรือจะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีก่อนหลังอย่างไร

การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่ง คณะรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องตัดสินใจกำหนดห้วงเวลา หรือ Road Map การเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นได้เตรียมการและสร้างกระแสความตื่นตัวให้เป็นที่สนใจของประชาชนในฐานะผู้ที่จะใช้สิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งในที่สุดจะตัดสินใจเลือกตั้งท้องถิ่นในประเภทท้องถิ่นขนาดเล็กหรือสนามเล็ก หรือท้องถิ่นขนาดใหญ่ หรือสนามใหญ่ก่อนหลังนั้น จึงเป็นจุดที่ท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่งเช่นกัน

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image