เริ่ม16 สค.ผู้ป่วยสแกนคิวอาร์โค้ดเทียบราคายาของรพ.เอกชนทั่วประเทศ อีก1เดือนเพิ่มกลุ่มเวชภัณฑ์ (ชมคลิป)

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากครบกำหนดที่โรงพยาบาลเอกชน 353 โรงพยาบาล และผู้นำเข้า ผู้ผลิต 345 ราย จะต้องแจงข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ยา และเวชภัณฑ์มาที่กรมการค้าภายในภายในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า โรงพยาบาลแจ้งมาแล้ว 312 แห่ง ในจำนวนนี้ แจ้งข้อมูลครบถ้วน 298 ราย และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล 14 ราย ขณะที่ยังมีไม่แจ้งข้อมูล 37 รายในจำนวนนี้ 4 รายไม่เข้าข่ายและไม่มีคุณสมบัติที่จะต้องแจ้งข้อมูล เพราะปิดกิจการและแปลงสภาพเป็นคลีนิคไปแล้ว ด้านผู้ผลิตและผู้นำเข้าแจ้งข้อมูลแล้ว 240 ราย แต่บางส่วนอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูล อีก 81 รายไม่แจ้งข้อมูล และ 19 รายไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องแจ้งข้อมูล และ 5 รายที่ไม่สามารถติดต่อได้

” สำหรับรายที่ไม่แจ้งข้อมูล กรมได้ส่งหนังสือเรียกให้มากชี้แจง คาดว่าน่าจะทยอยมาชี้แจงภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ หากออกหนังสือเชิญแล้ว ไม่มาชี้แจง จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีไม่ส่งข้อมูลราคามาให้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน เริ่มทยอยปรับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ”

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับราคาซื้อและขายยา ที่โรงพยาบาลได้ส่งมาให้กรมแล้ว นั้น ขณะนี้ กรมได้นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูล เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์กรม www.dit.go.th และนำมาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ด แล้วส่งไปให้โรงพยาบาลเอกชนแต่ละได้จัดแสดงไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้ง่าย เช่น เคาน์เตอร์จ่ายยา ฯลฯ เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบราคายาชนิดเดียวกัน ที่ขายในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจเข้ามาใช้บริการ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ภายหลังจากวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป และประชาชนยังสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์กรมการค้าภายใน (www.dit.go.th) เบื้องต้นระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคายาผ่าน QR CODE สามารถรองรับผู้เข้าใช้งานพร้อมกันได้ประมาณ 100,000 ราย ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มขนาดเซิร์ฟเวอร์ (Server)/CPU/RAM) ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับผู้ใช้งานให้มากขึ้น

”คิวอาร์โค้ด ที่จะจัดส่งให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งนั้น เมื่อตรวจสอบชื่อยาแต่ละชนิด เช่น พาราเซตามอล จะสามารถเช็คราคาที่ขายในโรงพยาบาลแต่ละแห่งทั่วประเทศได้ ทำให้ผู้บริโภครู้ได้ทันทีว่า โรงพยาบาลใดขายยาชนิดเดียวกัน ถูก หรือแพงกว่ากัน โดยราคาที่โรงพยายาลจัดส่งมาให้นั้น ถือเป็นราคาที่โรงพยาบาลผูกพันจะต้องขายตามนี้ ถ้าขายเกินกว่านี้ และมีผู้ร้องเรียน กรมจะสอบถามข้อเท็จจริง ถ้าชี้แจงไม่ได้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย และถ้าจะเปลี่ยนแปลงราคา ต้องแจ้งกรมล่วงหน้าก่อนการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 15 วัน ”

Advertisement

 

นายวิชัย กล่าวว่า ข้อมูลราคาซื้อ และขายยา ที่ให้โรงพยาบาลจัดส่งมานั้น เป็นราคาที่ไม่ได้รวมเอาค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาคิดเป็นราคาขายยาด้วย ต่างจากเดิมที่โรงพยาบาลมักเอาค่าใช้จ่ายอื่นๆ มารวมด้วย เช่น ค่าห้องเก็บรักษายา ค่าเภสัชกร ค่าเก็บสต๊อก เป็นต้น ส่งผลให้ราคายาบางชนิด มีราคาลดลงจากเดิมมาก ขณะที่บางชนิด ยังไม่ลดลง ซึ่งในส่วนที่ไม่ลดลง กรมจะเชิญโรงพยาบาลมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม หากราคาขายยังสูงอยู่ มาตรการต่อไป กรมอาจต้องกำหนดกำไรส่วนต่าง (มาร์จิน) ของยาแต่ละชนิด รวมถึงอาจกำหนดราคากลางสำหรับยาแต่ละชนิดด้วย แต่อาจเป็นมาตรการสุดท้ายที่กรมจะดำเนินการ และต้องหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำรหัสของเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางแพทย์แต่ละรายการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเข้าใจตรงกัน เพราะขณะนี้ ยังไม่มีการจัดทำเป็นรหัสใดๆ เลย คาดว่า น่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือน จากนั้นจึงจะนำมาเผยแพร่ราคาได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image