แบงก์ชาติห่วงเศรษฐกิจชะลอตัวดันยอดผิดนัดชำระหนี้-เอ็นพีแอลเพิ่ม

ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าปี 2561 ที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ 6% ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทำให้ความต้องการสินเชื่อธุรกิจชะลอตัว และผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการระดมทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้ ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรก 2562 สินเชื่อขยายตัว 0.9% เทียบกับสิ้นปี ยอดคงค้าง 13.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจ 8.70 ล้านล้านบาท ซึ่งสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ขยายตัวเล็กน้อย แต่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมชะลอตัว และสินเชื่ออุปโภคบริโภค 4.65 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตยังขยายตัวดี แต่สินเชื่อบ้านยังขยายตัว แต่อัตราชะลอลงจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) ขณะที่สินเชื่อรถยนต์อัตราการขยายตัวชะลอตัวลงเช่นกันตามยอดขายรถยนต์ใหม่ ซึ่งความกังวลการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรถยนต์ที่รุนแรงและมีการผ่อนปรนการให้สินเชื่อ หลังจากการตรวจสอบขณะนี้ ธปท.ได้เข้าไปกำกับดูแลบางสถาบันการเงินแล้ว เพื่อให้ปรับปรุงมาตรฐานด้านการคำนวณรายได้ผู้กู้และการประเมินราคารถให้เหมาะสมไม่เกิดสินเชื่อเงินทอน ได้ขอภาคเอกชนเสนอปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการแอลทีวีที่ใช้ในปัจจุบัน ยอมรับว่าบางเงื่อนไขค่อนข้างสมเหตุสมผลและอาจจะต้องพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขหรือปรับหลักเกณฑ์แอลทีวี

“การขยายตัวของสินเชื่อขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจชะลอตัวสินเชื่อมีโอกาสชะลอตัวลง แต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ต้องติดตามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง รวมทั้งจะมีการเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ออกมามากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นได้” นายธาริฑธิ์กล่าว

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อ โดยพบว่ายอดสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) หรือสินเชื่อที่ผิดนัดชำระ 1-3 เดือน รวมอยู่ที่ 4.18 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2561 ที่ 3.66 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอสเอ็มต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.74% จาก 2.42% ในช่วงสิ้นปี 2561 ซึ่งการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความเข้มงวดการจัดชั้นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.50 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่ 4.43 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.94% เป็น 2.95% อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความท้าทายในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ลดลง ซึ่งอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.5% และมีเงินสำรองอยู่ที่ 6.80 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ 195.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับสูงที่ 180.0%

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image