สกู๊ป น.1 : พิษ’หยวน’อ่อน จีนตอบโต้มะกัน กระเพื่อมถึงไทย!

สถานการณ์ธนาคารประชาชนแห่งจีน (พีบีโอซี) หรือธนาคารกลางของจีน กำหนดค่าอ้างอิงสำหรับการซื้อขายเงินหยวนประจำวัน หรือค่ากลางอยู่ที่ 7.0136 หยวนต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ลดลงจากค่าอ้างอิงก่อนหน้านี้-0.2012 เปอร์เซ็นต์ และนับเป็นวันที่สองในรอบ 1 สัปดาห์ที่ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์ ลดลงต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ค่ากลางดังกล่าวยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ และเป็นหลักประกันให้กับบรรดานักลงทุนมากขึ้นว่าจีนจะไม่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา

ครั้งแรกที่ค่าเงินหยวนลดลงต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าแนวรับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักเพราะหวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามค่าเงินขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา มีคำสั่้งให้กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ยกระดับประเทศจีนขึ้นจากประเทศที่ต้องจับตา เป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเต็มตัวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จีนใช้วิธีกำหนดค่าอ้างอิงของเงินหยวนเป็นรายวันเพื่อใช้เป็นกลไกในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน โดยอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบ สำหรับค่าหยวน/ดอลลาร์จนถึงเดือนสิงหาคมนี้เมื่อเทียบกับค่าหยวน/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2561 อ่อนค่าลง 2.25 เปอร์เซ็นต์ จากระดับ 6.8730 หยวนเป็น 7.051 หยวนต่อดอลลาร์ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

หากพิจารณาค่าเงินในภูมิภาคเทียบกับค่าเงินหยวนตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงขณะนี้ พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวนราว 8.70% หรืออยู่ที่ราว 4.35 บาทต่อหยวน จากที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยราว 5 บาทต่อหยวน ด้านสกุลเงินอื่นก็แข็งค่าเทียบกับค่าเงินหยวนแต่ในอัตราแข็งค่าที่น้อยกว่า ได้แก่ ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น แข็งค่า 6.41% ค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย แข็งค่า 4.04% ค่าเงินเปโซ ฟิลิปปินส์ แข็งค่า 3.99% ค่าเงินริงกิต มาเลเซีย แข็งค่า 1.39% และค่าเงินดอลลาร์ สิงคโปร์ แข็งค่า 1.18%

Advertisement

จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เมื่อค่าเงินหยวนมีการเคลื่อนไหว ย่อมส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก!!!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หลังจากที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่มเติม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะขึ้นภาษี 10% ในวันที่ 1 กันยายน 2562 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทางการจีนพร้อมที่จะตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐด้วยการลดค่าเงิน อย่างไรก็ดี ทางการจีนน่าจะไม่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่ามากจนเกินไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้นการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวนจะส่งผลให้ค่าเงินทั้งภูมิภาคอ่อนค่าตามไปด้วย แต่ขณะนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับสกุลเงินอื่นๆ ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดลง และส่งผลให้การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงอยู่แล้วนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวไปมากกว่าเดิมเป็นปัจจัยฉุดรั้งที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นชะงักงัน

สอดคล้องกับความเห็นของ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ระบุว่า การที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้การซื้อสินค้าไทยของจีนต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น และสินค้าไทยยังแพงขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าของประเทศอื่นๆ เพราะเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุด โดยสินค้าที่จีนมีการนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ ยางพารา แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปผลิตต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนส่งต่อไปสหรัฐ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มการนำเข้าของจีนที่ลดลงจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยที่ส่งออกชะลอลงแล้ว ยังมีผลกระทบเพิ่มเติมหากจีนมีการนำเข้าจากประเทศอื่นในอาเซียนแทนสินค้าที่มาจากไทย หากเป็นสินค้าที่ไทยมีคู่แข่งไม่มากนัก รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง เช่น ทุเรียน อาจจะยังสามารถต่อรองและขยับราคาขายกับจีนได้บ้างเพื่อชดเชยผลจากค่าเงินหยวนอ่อน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว

Advertisement

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ค่าเงินบาทเทียบเงินหยวนแข็งค่าและทำจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี 8 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยที่มีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุด โดยข้อมูลปี 2561 ไทยส่งออกไปจีนราว 8.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 16% ของการส่งออกทั้งหมด จะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีรายได้ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อหยวนและบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาสินค้าไทยแพงขึ้นในสายตาผู้นำเข้าจีน สำหรับสินค้าส่งออกไทยไปจีนหลักๆ มาจาก เม็ดพลาสติก 10.3% ของสินค้าส่งออกไปจีนทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ยาง 9.4% เคมีภัณฑ์ 9.1% คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน 7% ยางพารา 6.5% เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากส่งออก ประเมินว่าธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ร้านอาหาร เงินบาทต่อหยวนที่แข็งค่าจะกดดันต่อกำลังซื้อของชาวจีนซึ่งนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นสัดส่วนอันดับ 1 ของไทย ราว 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ธุรกิจขนส่งทางอากาศที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการใช้บริการที่ลดลง กลุ่มค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง รวมทั้งโรงพยาบาล คาดกระทบต่อโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติจำกัด ธุรกิจส่งออกอาหารจำพวกไก่ ที่ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะไทยมีสัดส่วนส่งออกไปจีนสูงถึง 11% เป็นต้น

ส่วนภาคธุรกิจอื่นๆ อย่าง ภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นนั้น มองว่าไม่น่าจะกระทบกับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของไทยมากนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนไม่ค่อยดี ดังนั้น นักลงทุนเหล่านี้จึงต้องแสวงหาโอกาสในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในประเทศของตัวเอง ส่งผลให้นักลงทุนเหล่านี้มองการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ในไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วยังให้ผลตอบแทนดีและราคาไม่สูงมาก แต่จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วยนั้นทำให้นักลงทุนจีนลดราคาที่จะซื้อลงจากเดิมที่เคยซื้อได้ในยูนิตละ 5-6 ล้านบาท ก็จะเหลือประมาณ 3 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งสอดคล้องกับการที่ทางการจีนมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดมากขึ้นในการจำกัดการนำเงินออกนอกประเทศ

หลากหลายความเห็นปม “ค่าเงินหยวน” อาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อส่งออกและการทำธุรกิจของไทยอีกเรื่องในอนาคตอันใกล้นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image