กรมธนารักษ์ลุยเอาผิดขบวนการปลอมเหรียญแพรแถบ ร.10 ชี้มิบังควร ยันมีพร้อมขาย 2 แสนเหรียญ

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมเตรียมดำเนินคดีอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่ผลิตและขายเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบปลอม โดยขณะนี้พบการปลอมแปลงเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 รัชกาลที่ 10 โดยนำมาขายในราคาเหรียญละ 600-800 บาท ถูกกว่าเหรียญที่กรมธนารักษ์ขายในราคาเหรียญละ 1,600 บาท ซึ่งเหรียญของจริงยังมีศูุนย์จำหน่ายเหรียญกรมธนารักษ์และธนารักษ์พื้นที่ทุกแห่ง

นายอำนวยกล่าวต่อว่า ผู้กระทำผิดมีโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 250 ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตราแผ่นดิน รอยตราแผ่นดิน หรือพระปรมาภิไธย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท ซึ่งในการผลิตเหรียญได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการ และมีการออกกฎหมายรองรับ ดังนั้น การไปปลอมแปลงถือเป็นการกระทำที่มิบังควร

นายอำนวยกล่าวต่อว่า เหรียญแพรแถบของจริงจะผลิตจากเหรียญเงินและใช้แพรแถบที่เป็นไหมแท้ ราคาที่กำหนดไว้ 1,600 บาท เป็นราคาต้นทุนที่ไม่ได้บวกกำไร ส่วนเหรียญปลอม ตัวแพรแถบจะทำมาจากริบบิ้น เหรียญน้ำหนักจะเบาลวดลายไม่คมชัด โดยมีการประกาศขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ เข้าใจว่าประชาชนบางส่วนที่หลงซื้ออาจไม่ทราบว่ายังมีเหรียญขายอยู่ เพราะจำสับสนกับกรณีเหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 ที่จะผลิตตามการสั่งจอง และขณะนี้ได้ปิดการสั่งจองไปแล้ว

“ไม่อยากให้ประชาชนไปสนับสนุนซื้อเหรียญปลอม โดยยืนยันว่าเหรียญแพรแถบยังมีเพียงพอกับความต้องการ จากแผนที่จะผลิตทั้งหมด 500,000 เหรียญ ขณะนี้ผลิตไปแล้ว 300,000 เหรียญ ยังเหลือผลิตอีก 200,000 เหรียญ ส่วนที่เหลือสามารถทยอยผลิตได้ตามความต้องการไปจนกว่าจะครบยอดที่กำหนดไว้ โดยล่าสุดมีสต๊อกที่ผลิตพร้อมขายกว่า 20,000 เหรียญ” นายอำนวยกล่าว

Advertisement

นายอำนวยกล่าวต่อว่า ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอซื้อได้ที่ธนารักษ์พื้นที่หรือจุดจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ทุกแห่ง โดยหลังจากนี้กรมจะเข้มงวดเพื่อกวาดล้างขบวนการปลอมเหรียญและเตรียมล่อซื้อ สืบสวนเพื่อค้นหาแหล่งผลิตเหรียญปลอมต่อไป

นายอำนวยกล่าวต่อว่า กรมธนารักษ์เตรียมที่จะทำราคากลางเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เผยแพร่ทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อเหรียญ โดยราคากลางดังกล่าวจะเป็นราคาที่มาจากการหารือระหว่างกรมธนารักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมศิลปากร ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญ ซึ่งนอกจากราคาแล้วก็จะมีข้อมูลของเหรียญว่าผลิตปีใด จำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจว่าจะซื้อเหรียญดังกล่าวในราคาเท่าใด เพราะในการซื้อเหรียญมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น ความสมบูรณ์ของเหรียญ ความต้องการของตลาด เป็นต้น

“เหรียญแรกของไทยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ร.4 ส่วนสมัย ร.9 มีเหรียญที่ผลิตมากที่สุดนับร้อยกว่ารุ่น และถือเป็นยุครุ่งเรืองของการผลิตเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึก บางเหรียญที่ผลิตมาน้อยเป็นที่ต้องการของตลาดราคาก็พุ่งสูง ดังนั้น ราคากลางที่กำหนดขึ้นก็จะถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สนใจในเรื่องเหรียญ” นายอำนวยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image