จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

สงครามการค้าไม่ทันจบ สงครามค่าเงินเข้ามาแทรก อันเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเทศจีนได้ลดค่าเงินหยวน อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนอ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

สหรัฐได้ขึ้นบัญชีให้จีนเป็นประเทศบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulator)

เป็นสงครามรอบใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศให้ปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 10 ในจำนวน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

ธนาคารจีนยืนยันว่า การลดค่าเงินหยวนก็เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด

แต่สังคมมองว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่จะปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐอันเกี่ยวกับการปรับขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

หากวิเคราะห์ในด้านตรรกะ น่าจะเป็นการตักเตือนสหรัฐในเชิงสัญลักษณ์ว่า อย่าถือว่าการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรคือมาตรการที่จะทำการบังคับให้จีนยอมจำนนในบรรดาประเด็นปัญหา

Advertisement

อดีต การขึ้นบัญชี “ประเทศบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน” ถือเป็นกลยุทธ์เด็ดของสหรัฐ

ปัจจุบัน กลยุทธ์ดังกล่าวใช้กับจีนคงไม่สัมฤทธิผล

การที่จีนใช้มาตรการแข็งกร้าวตอบโต้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า

ไม่ฝากความหวังมากอันเกี่ยวกับการบรรลุสัญญาข้อตกลงทางการค้า

สงครามการค้าจีน-สหรัฐเจรจาไปพิพาทไป

กลยุทธ์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” คือก่อนประชุมเจรจาจะทำการกดดัน อาทิ

ก่อนการเจรจาการค้าเมื่อเดือนพฤษภาคม เขาได้ประกาศปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตราร้อยละ 25

การประชุมสุดยอด “ทรัมป์-สี” เมื่อปลายเดือนมิถุนายน จีน-สหรัฐตกลงยินยอมฟื้นฟูการเจรจา “โดนัลด์ ทรัมป์” กล่าวว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรชั่วคราว

และแล้วเขาก็ปรับ โดยไม่รักษาสัจจะ กล่าวคือ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม คณะผู้แทนจีน-สหรัฐได้ประชุมกันที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อปูทางสำหรับการประชุมการค้ารอบใหม่ในเดือนกันยายน

ทั้งนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ประกาศอย่างกะทันหันให้ปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสินค้าจีน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตราร้อยละ 10 โดยให้เริ่มมีผลวันที่ 1 กันยายน 2019

สหรัฐใช้มาตรการกดดันแบบเดิมๆ จีนไม่ยอมอ่อนข้อ นอกจากยุติการซื้อสินค้าเกษตร และยังไม่ตัดประเด็นการปรับขึ้นอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ

แต่เรื่องที่ “ฮอต” ที่สุดคือการลดค่าเงินหยวน “ทะลุ 7 หยวนต่อ 1 เหรียญ”

เป็นประเด็นที่โจษขานกันทั่วโลก

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจสึนามิ 2008 จีนไม่เคยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าตกขอบ “7 หยวน/1 เหรียญ” ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี

ธนาคารจีนได้แก้ตัวแบบ “ข้างๆ คูๆ” ว่า เหตุการณ์เงินหยวนอ่อนค่า ก็เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกและความขัดแย้งทางการค้าเป็นเหตุ

แต่สังคมมองว่า การลดค่าเงินหยวนคือ “ไพ่เด็ด” ที่จีนนำมาใช้ในสงครามการค้า

ทั้งนี้ เป็นการแจ้งเตือนสหรัฐในเชิงสัญลักษณ์ว่า ในกรณีจำเป็นจีนสามารถใช้ไพ่ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการตอบโต้กับการปรับขึ้นกำแพงภาษีศุลกากร

จึงสร้างความกังกวลให้ตลาดโลกว่า สงครามการค้ายกระดับบานปลายกลายเป็น

“สงครามค่าเงิน”

สหรัฐได้ข่มขู่ขึ้นบัญชีให้จีนเป็นประเทศบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulator) มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏ อาจเพราะทำไม่สำเร็จหรือไม่ได้ทำ

ตั้งแต่ 1994 เป็นต้นมา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐนำจีนขึ้นบัญชีดังกล่าว

แต่วันนี้ของจีนได้พัฒนาไปไกลแล้ว การลงดาบของสหรัฐมิได้ทำให้จีนเดือดร้อนมาก การกล่าวหาจีนก็ยังไม่มีหลักฐานมานำสืบเพื่อสนับสนุน

การที่สหรัฐขึ้นทะเบียนให้จีนเป็น “ประเทศบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน” นั้น เป็นการสะท้อนในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการตอบโต้อย่างจริงจัง

บัดนี้ ความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ต่างไม่มี “หมัดเด็ด” เพื่อเอาชนะแบบ “น็อกเอาต์” ได้ เพียงเพื่อ “แลกหมัด” กันเท่านั้น เช่น

การปรับกำแพงภาษีครั้งล่าสุดของสหรัฐร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค อันได้แก่ ของเด็กเล่น โน้ตบุ๊กและโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ถือเป็นเรื่องเล็กสำหรับจีน เพราะเพียงเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนลดลงร้อยละ 0.5 เท่านั้น แต่สหรัฐได้รับความเสียมากกว่า ซึ่งกระทบถึงผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก

หากต่อไปในอนาคต “โดนัลด์ ทรัมป์” ปรับเพิ่มภาษีจากร้อยละ 10 ให้เป็น 25

สหรัฐก็จะเจ็บมากกว่านี้

กรณีละม้ายกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” เอาค้อนมาทุบนิ้วของตน

ส่วนกรณีที่จีนลดค่าเงินหยวนเพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐนั้น ผลเสียคือ

1.อาจเป็นเหตุให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ

2.ธุรกิจจีนยังต้องชำระหนี้ด้วยเงินเหรียญสหรัฐ ย่อมต้องเสียเปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

จึงไม่ควรใช้มาตรการลดค่าเงินอย่างพร่ำเพรื่อ

แต่ไม่ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะใช้มาตรการใดกดดันจีนก็ตาม จีนยืนหยัดตอบโต้ด้วยมาตรการ

“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

ต้องไม่ลืมว่า “จีนวันนี้มิใช่จีนเมื่อวันวานที่ผันผ่าน”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image