รีดเงินเฟซบุ๊ก-ไลน์-ยูทูบ ‘กสทช.’ ยันไม่เป็นภาระ-คงส่วนตัว เกตเวย์กลางดึงรายได้เข้าประเทศ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมของผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือการประชุมอาเซียน เทเลคอมมูนิเคชั่น เร็กกูเลเตอร์ เคานซิล (เอทีอาร์ซี) ครั้งที่ 25 ทั้งนี้ การประชุมมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท โดยมีหัวข้อสำคัญ คือ เรื่องกิจการที่ให้บริการบนโครงข่ายโทรคมนาคม หรือบริการ โอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที), เรื่องความคืบหน้าการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในประเทศสมาชิกอาเซียน และเรื่องข้อแนะนำอาเซียนว่าด้วยการบริการอย่างทั่วถึงในอนาคต สำหรับระบบนิเวศบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างทั่วถึงว่าจะมีแนวทางในการดำเนินกิจการอย่างไร ส่วนประเด็นการประชุมเน้นไปที่โอทีที ได้แก่ ไลน์, ไลน์ทีวี, เฟซบุ๊ก ไลฟ์, เฟซบุ๊ก และยูทูบ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวนั้นต้องการให้การพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลและการเก็บอัตราค่าบริการเพื่อได้ข้อยุติร่วมกันทั้งหมด

“ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ก่อนการประชุมเริ่มขึ้น จะมีการประชุมเรื่องโอทีทีให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอต่อที่ประชุมเอทีอาร์ซี เพื่อพิจารณาในวันถัดไป (20 สิงหาคม 2562) ว่าจะมีแนวทางในการกำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างไร โดยประเทศไทยเองก็จะเสนอแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะกำกับดูแลโอทีที แนวทางที่จะดึงรายได้จากผู้ประกอบการโอทีทีเข้าสู่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ ซึ่งแนวทางที่ไทยจะนำเสนอจะเป็นแนวทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค ทั้งในเรื่องอัตราค่าบริการความเป็นส่วนตัวรวมถึงความเป็นธรรมในการแข่งขันในการให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั่นคือจะต้องไม่เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า การหารือเรื่องนี้มีความสำคัญมาก และเป็นความท้าทายในการกำกับดูแลโอทีทีในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น การประชุมเรื่องการกำกับดูแลกิจการโอทีทีจึงจำเป็นต้องได้ฉันทามติร่วมกัน ซึ่งแนวทางของปรเทศไทยนั้นก็แสดงจุดยืนมาตลอดว่า ควรจะมีการเก็บค่าบริการจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นจากประชาชน ดังนั้น จึงขอให้สังคมและทุกฝ่ายให้ความเข้าใจร่วมกันว่า การเก็บค่าบริการโอทีทีนี้ ก็จะพิจารณาจากปริมาณทราฟฟิกดาต้าที่มีการใช้งานผ่านเกตเวย์ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกิจการโอทีทีต่างเข้ามากอบโกยรายได้จากประเทศไทย แต่ไม่เคยต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image