เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้า กรอบอาร์เซ็ปคืบหน้าแล้ว 2 ใน 3 คต.มั่นใจสรุปได้ตามเป้าต.ค.นี้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Sub- Working Group on Rules of Origin: SWGROO) ล่าสุดปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสามารถหาข้อยุติในประเด็นสำคัญเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ คือ 1. มาตราว่าด้วยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (Material Used in Production) อนุญาตให้ผู้ผลิตสินค้าที่นำวัตถุดิบที่ไม่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้า (Non-Originating Materials) มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าของตน ถือเสมือนว่าวัตถุดิบนั้นเป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้า (Originating Materials) เมื่อพิจารณาคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนั้นในการผลิต หากวัตถุดิบที่ไม่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้านั้นได้ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎถิ่นกำเนิดสินค้า

นายอดุลย์  กล่าวอีกว่า 2. มาตราว่าด้วยการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Claims for Preferential Tariff Treatment) ได้กำหนดเงื่อนไขและแนวปฏิบัติในการขอรับสิทธิในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรนำเข้าภายใต้ความตกลง RCEP โดยศุลกากรประเทศผู้นำเข้าจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรดังกล่าวแก่สินค้าที่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นภาคีสมาชิก RCEP โดยอ้างอิงจากเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่นำมาสำแดงเมื่อดำเนินพิธีการศุลกากร ดังนั้น ผู้นำเข้าจะต้องสำแดงเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยังไม่หมดอายุต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้าเพื่อยื่นขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เว้นแต่กรณีที่มูลค่าศุลกากร (Customs Value) ของสินค้านั้นไม่เกิน 200 เหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่าในสกุลเงินของประเทศผู้นำเข้า หรือมูลค่าอื่นใดที่สูงกว่าซึ่งเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบภายในของประเทศผู้นำเข้า ทั้งนี้ ศุลกากรประเทศผู้นำเข้าสามารถเรียกหลักฐานหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าสินค้ามีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศผู้ส่งออก กรณีมีเหตุสุดวิสัย ศุลกากรประเทศผู้นำเข้าอาจพิจารณารับเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่หมดอายุแล้วเพื่อประกอบการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร

นายอดุลย์  กล่าวต่อว่า 3. มาตราว่าด้วยบทเฉพาะกาลสำหรับสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่ง (Transitional Provision for Goods in Transit) เป็นข้อบทที่กำหนดขึ้นเพื่อระบุถึงสิทธิของสินค้าที่ส่งออกก่อนความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าที่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกตรงไปยังประเทศภาคีสมาชิก RCEP สามารถขอรับสิทธิการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรนำเข้าภายใต้ความตกลง RCEP ได้ ภายใน 180 วัน นับจากวันทึ่ความตกลงมีผลบังคับใช้ในประเทศผู้นำเข้า หากสินค้านั้นยังมิได้เข้าสู่อาณาเขตของประเทศผู้นำเข้า แม้ว่าสินค้าจะส่งออกจากต้นทางก่อนที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

“แม้ว่าประเทศสมาชิกจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันในสาระสำคัญของข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเกือบจะทั้งหมดแล้ว หากแต่ประเด็นที่คงเหลืออยู่ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยหลายประเด็นเป็นมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิประโยชน์ และสนับสนุนรูปแบบการค้าสมัยใหม่ ดังนั้น คต. จึงยังต้องดำเนินการเจรจาและผลักดันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผลการประชุมเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยสูงสุด และเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงได้มีการกำหนดให้มีการประชุมระหว่างรอบของ SWGROO ระหว่างวันที่ 19-24 สิงหาคม 2562 คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคม ”นายอดุลย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image