‘วิรไท’ ยันตั้งไฟแนนเชียลทีมไม่กระทบอิสระ กนง. เห็นด้วยหนุนรับมือโลกผันผวน ลดดอกเบี้ยหวังฟื้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดูแลด้านการเงินการคลัง (ไฟแนนเชียลทีม) ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ ธปท.เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นและความผันผวนในตลาดการเงินที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ขณะนี้ยังไม่ทราบความคืบหน้าการจัดตั้งไฟแนนเชียลทีม แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท.

“การดูแลเศรษฐกิจที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ซึ่งการตั้งไฟแนนเชียลทีมเป็นเรื่องที่ดีเพื่อรับมือความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก จะสามารถทำงานได้อย่างชัดเจนและอยู่บนความเข้าใจที่ตรงกัน โดยแต่ละองค์กรก็ยังมีอำนาจตามกฎหมายที่จะต้องทำตามอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลชุดก่อน ธปท. ได้มีการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลด้านเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ เพราะปัจจุบันแต่ละหน่วยงานมีการกำกับดูแลเฉพาะกลุ่ม และยังมีภาคส่วนไม่มีผู้กำกับดูแลที่ชัดเจนหรือเป็นธนาคารเงา การทำมาตรการป้องกันอย่างหนึ่งอาจไปส่งผลกระทบอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นการกำกับดูแลระบบการเงินควรไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะยาว” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไทกล่าวว่า สำหรับการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ลง 0.25% จาก 1.75% มาเป็น 1.50% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากเคยประมาณการไว้จากทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่บรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น ส่งผลต่อภาคการส่งออกและเริ่มส่งผลต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน การบริโภคและการลงทุน รวมทั้งผลกระทบจากราคาพลังงานที่อาจทำให้เงินเฟ้อปีนี้ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ให้เกิดการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรและเพื่อไม่ให้สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจในอนาคต โดยจะผสานเครื่องมือทั้งมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (ไมโครพรูเด็นเชียล) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (แมคโครพรูเด็นเชียล)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image