ตากใช้สัตว์คุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

ตากนำร่องลดสารเคมี หันใช้ ชีววิธีหรือสิ่งมีชีวิต”ใส่เดือนฝอย แมลงหางหนีบ และแตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา”ในการควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

วันที่ 14 สิงหาคม นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์จังหวัดตาก ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอพบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตาก ลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ แมลงหางหนีบ ไส้เดือนฝอย มาเป็นศัตรูในการปราบศัตรูพืช เพื่อให้พืชที่ปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระปลอดจากสารเคมี และเป็นอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะอะโวคาโด และทุเรียน ที่มีชื่อเสียง ของอำเภอพบพระ และขณะนี้อำเภอพบพระ รวมทั้งอำเภออื่นๆในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก ได้ประสบปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมาทำลายต้นข้าวโพดของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอพบพระเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดกิจกรรมสาธิตโครงการแก้ปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพด ลายจุดที่หมู่ที่ 3 ในพื้นที่ 25 ไร่ บ้านวาเล่ย์เหนือ ตำบลวาเล่ย์อำเภอพบพระ เพื่อให้อำเภอพบพระ เป็นอำเภอนำร่องใน ฝั่ง 5 อำเภอชายแดน ของจังหวัดตาก

นางสาวเกษตริน ฝ่ายอุประ นักวิชาการปฏิบัติการ ศูนย์วิจัย และพัฒนาการเกษตรตาก กล่าวว่า การสาธิตพ่นไส้เดือนฝอย กำจัดแมลงหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด วิธีการพ่นจะใช้ไส้เดือนฝอยผสมน้ำฉีดพ่นในช่วงช่วงเช้าหรือตอนเย็นเท่านั้น มีความปลอดภัยกับคนฉีดพ่นด้วย และทำให้ตัวหนอนกระทู้ตาย หลังจากพ่นไป 18 – 24 ชั่วโมง การตายของหนอนจะไม่เน่า ซึ่งต่างกับสารเคมี ทำให้ตัวหนอนเน่าเละ ส่วนราคาถูกมากเฉลี่ย 100 บาทต่อ 1 ไร่ เกษตรกรสามารถติดต่อได้ สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก กรมวิชาการเกษตร

นายสมาน เทพารักษ์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตาก กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากเกษตรจังหวัดตาก ร่วมการสาธิตส่งเสริมป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยชีววิธีคือ ปล่อยแมลงหางหนีบ ปล่อยในแปลงเพื่อกำจัดหนอนในวัย 1 และ 2 ซึ่ง แมลงหางหนีบจะกำจัดหนอนโดยใช้แพนหางหนีบแล้วกินหนอนเป็นอาหาร และขอแนะนำให้ปล่อยแมลงหางหนีบในอัตรา 100 -1000 ตัว ต่อไร่ หรือตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในแปลง อีกวิธีคือ ใช้แตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา ปล่อยในแปลงเพื่อให้แตนเบียนไปวางไข่ไว้ในไข่ของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ทำให้ไข่ของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวหนอนได้ โดยจะฟักออกมาเป็นแตนเบียนแทน

Advertisement

ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติทั้ง 2 ชนิด สามารถลดปริมาณการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้เป็นอย่างดี ถ้าใช้อย่างต่อเนื่องจนปริมาณเพิ่มขึ้นสมดุลกับปริมาณหนอนที่ระบาด ก็จะลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดหนอนลงได้ ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อเกษตรกร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเกษตรกรทั่วไปสนใจ สามารถติดต่อหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ซึ่ง สำนักงานเกษตรจังหวัดตากจะได้ประสานขอสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image