กรอ.พาณิชย์นัดแรก ตั้งวอร์รูมสู้ศึกสงครามการค้า“จุรินทร์”ลั่น3-6เดือนรู้ผลส่งออกไทย (มีคลิป)

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2562  ว่า เป็นประชุมกรอ.พาณิชย์นัดแรก ได้หารือแนวทางรับมือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยืดเยื้อ ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นำเสนอในหลายประเด็นที่จะไปสู่การปลดล็อกอุปสรรค และขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งที่ประชุมมีมติ ดังนี้  การจัดตั้งทีมวอร์รูม ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์สงครามการค้า กำหนดแผนงานเชิงรุกและเชิงรับ และติดตามแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที โดยทำหน้าที่เร่งรัดเจาะตลาดต่างประเทศ มีการกำหนดแผนงานเร่งด่วน 3 เดือน 6 เดือน เพื่อเร่งรัดให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานย่อยดูรายตลาด รายสินค้าและภาคบริการ โดยคณะทำงานจะมีกรอบการทำงานและเป้าหมายที่ชัดเจน เบื้องต้นจะเร่งผลักดันใน 5-6 ตลาด อาทิ กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี จีน อินเดีย เอเชียใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ผลักดันและเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน โดยเอกชนเสนอให้เพิ่มด่านถาวร และขยายเวลาการเปิดและปิดด่าน เช่น ด่านแม่สอด ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านอรัฐประเทศ ด่านสิงขร ด่านห้วยตุ้นนุ่น เป็นต้น  รวมถึงทะลวงด่านค้างท่อ ซึ่งมีหลายโครงการก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังมีขั้นตอนที่ติดขัด เช่น สะพานข้ามแม่สอด2 และ  ด่านสะเดา 2 ซึ่งจะนำไปหารือกับพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ต่อไป

“จะมีการประชุมกรอ.พาณิชย์ เดือนละครั้ง ช่วงกลางเดือน โดยครั้งนี้ยังไม่ได้คุยเรื่องตัวเลขเป้าหมายการส่งออก ซึ่งเวทีทบทวนตัวเลขการส่งออกว่าจะคง 3%หรือไม่ ต้องนำไปหารือในการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ วันนี้เป็นการตั้งวอร์รูมเพื่อรับฟังและร่วมมือกับเอกชนลดอุปสรรคและกำหนดแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้การส่งออกได้ในภาวะเกิดสงครามการค้าโลก ไม่ใช่เวทีปรับตัวเลขส่งออก ยืนยันหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์จะช่วยผลักดันการส่งออก ซึ่งทำลำพังไม่เพียงพอในสถานการณ์อย่างนี้ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน เป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลส่งออกไม่ว่าจะภาวะปกติ หรือไม่ปกติ ส่วนแนวทางจากนี้ เป้าหมายเชิงรุกเชิงรับเป็นอย่างไร ต้องรอผลหารือคณะวอร์รูมที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เรียกหารือกับภาคเอกชนทุกภาคส่วนก่อนและนำมาเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป วันนี้ผมยังไม่ขอตอบเรื่องตัวเลขส่งออกว่าจะคง 3% หรือปรับเพิ่มหรือลดอย่างไร “ นายจุรินทร์ กล่าว

Advertisement

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาคเอกชนแสดงความเป็นห่วงในเรื่องค่าบาท เสนอการใช้สกุลเงินบาทในการแลกเปลี่ยนและค้าขายในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที  ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี รวมถึงการขยายช่องทางการส่งออกทั้งการผ่านค้าชายแดนและผลักดันสู่ตลาดส่งออกต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมฯ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการนำเสนอแนวทางรับมือสงครามการค้า 4 ด้าน ได้แก่  1. ด้านการรับมือการเบี่ยงเบนการค้า อาทิ การเฝ้าระวังการไหลทะลักของสินค้าจากต่างประเทศ สอดส่องป้องกันการสวมสิทธิ์ 2. ด้านการตลาดและการส่งออก อาทิ บริหารจัดการตลาดส่งออก กระจายตลาด รุกตลาดเมืองรอง ส่งเสริมการค้าออนไลน์ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม สร้างแบรนด์ ส่งเสริมการค้าชายแดน ปรับโครงสร้างการส่งออกของไทยเปลี่ยนจากส่งออกสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่ม  3. ด้านการเจรจา เร่งการเจรจาความตกลงการค้าและการลงทุน (FTAs) และกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnerships) ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยต้องพิจารณาหลายมิติประกอบกัน เช่น เศรษฐกิจการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 4. ด้านการลงทุน ปรับนโยบายการลงทุนให้เน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานของไทย ผลักดันให้มีการนำสินค้าไทยร่วมไปกับการลงทุนขาออก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image