รมว.เกษตร ‘ขันนอต’ กรมชลฯ เร่งงานก่อสร้างคลองระบายน้ำ ร.1 แก้น้ำท่วมหาดใหญ่

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา วีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรี นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปตรวจราชการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) โดยมี นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายประสิทธิ์ จรินานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปความก้าวหน้าโครงการและนำลงพื้นที่ตรวจงานก่อสร้าง

โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ และพระราชทานพระราชดำริถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 และเมื่อวันที่ 4 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยการขุดขยายคลองเดิมและขุดคลองสายใหม่ จำนวน 11 สาย เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ และบริเวณใกล้เคียงลงสู่ทะเลสาบสงขลา

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาอีกครั้ง วัดปริมาณน้ำท่าได้ถึง 1,624 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เกินความสามารถที่คลองระบายน้ำที่มีอยู่จะรองรับได้ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลนครหาดใหญ่สร้างความเสียหายถึง 10,490 ล้านบาท กรมชลประทานเล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวหาดใหญ่ จึงได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) โดยการขุดขยายคลองระบายน้ำ ร.1 จากเดิมที่สามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้สามารถระบายน้ำได้ เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับศักยภาพการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้สามารถระบายน้ำได้รวม 1,665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของพื้นที่อำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดสงขลาสำนักงานชลประทานที่ 16 รายงานให้ทราบว่าในปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งฝนจะเริ่มตกชุกในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 16 ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับน้ำหลาก เช่น การขุดลอกคลองธรรมชาติ การกำจัดผักตบชวา การเตรียมเครื่องสูบน้ำ และการเตรียมเครื่องผลักดันน้ำ สำหรับช่วยในพื้นที่วิกฤตไว้เรียบร้อยแล้ว

Advertisement

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่(ระยะที่ 2 )ครั้งนี้ เห็นว่างานก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลอง ร.1 ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการอยู่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยของอำเภอหาดใหญ่ จึงขอให้กรมชลประทานเร่งรัดการดำเนินการก่อสรา้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งขอให้เตรียมความพร้อมสำหรับช่วงมรสุมที่จะมาถึงนี้ให้สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจากการรายงานของกรมชลประทานทราบว่า ถึงแม้ว่าการก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ก็สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับคลองอู่ตะเภาซึ่งระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะสามารถระบายน้ำลงสูทะเลสาบสงขลาได้ถึงวันละ 104 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากการที่กรมชลประทานเตรียมการต่างๆ ไว้แล้วนั้น ก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image