ภูมิปัญญาด้านความมั่นคง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คําให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศของ ผบ.ทบ. สะท้อนให้เห็นจินตนาการของกองทัพที่มีต่อสถานการณ์ “การต่อสู้” (struggle คือคำที่เขาหรือสำนักข่าวผู้รายงานใช้) ที่ถือเป็นภารกิจของกองทัพ เขาเห็นว่าสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่มีความแตกต่างอยู่บ้างจากประสบการณ์เดิม คือการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก และการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนเห็นว่าความแตกต่างในสถานการณ์นี้ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการจัดองค์กร (reorganize) ของหน่วยทหารเสียใหม่ แต่จะปรับเปลี่ยนอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้

ใครๆ ก็คงเห็นด้วยกับ ผบ.ทบ.ว่า สถานการณ์ที่กำหนดแนวทางการต่อสู้ของกองทัพในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และใครๆ ก็คงเห็นด้วยว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การจัดองค์กรของกองทัพก็ควรเปลี่ยนด้วย

แต่ที่เห็นด้วยได้ยากก็คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ ซึ่ง ผบ.ทบ.เห็นว่าคือการก่อวินาศกรรมที่ผสมกับการใช้ข่าวลวงของพรรคการเมือง เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาลและสถาบันหลักของประเทศ

เอาเข้าจริงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในความคิดของ ผบ.ทบ.มีน้อยมาก เกือบจะไม่ต่างอะไรกับสมัยที่ต้องรบกับ พคท. เพียงแต่ว่าในสมัยที่ พคท.ปฏิบัติการนั้น ยังไม่มีสื่อโซเชียล จึงมีช่องทางการสื่อสารกับประชาชนจำกัด และ พคท.ถูกบีบบังคับให้ไม่สามารถต่อสู้ในระบบได้ เช่นไม่สามารถใช้รัฐสภาเป็นเวทีการต่อสู้ ผิดกับพรรคการเมืองปัจจุบัน ซึ่งเข้ามาต่อสู้ในระบบ

Advertisement

น่าสังเกตว่า ความเห็นเช่นนี้ประกอบขึ้นจากวิธีคิดที่โบราณมาก จะขอแสดงมรดกตกทอดจากรุ่นคุณทวดให้เห็นสักสองสามอย่าง ดังนี้

ระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้นสักหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ ผบ.ทบ.จะให้สัมภาษณ์นั้น เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่ แต่เป็นการเมืองของกลุ่มใดไม่สู้จะชัดนัก จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจดูจะพุ่งเป้าไปที่สถานการณ์ในภาคใต้ เพราะผู้ต้องหาที่จับได้ล้วนเป็นคนจากแถบนั้น ซ้ำยังอ้างว่ามีข้อมูลการก่อวินาศกรรมของบางคนในภาคใต้ด้วย จริงอยู่คนเหล่านี้ (หากเขาคือผู้ลงมือวางระเบิดจริง) อาจถูก “ว่าจ้าง” จากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งก็ได้ แต่การสืบสวนจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลใดที่ส่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

เหตุใด ผบ.ทบ.จึงคิดว่าระเบิดดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาล และเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง (ฝ่ายค้าน) คำตอบก็คือการข่าวของฝ่ายทหารคงให้ข้อมูลเช่นนั้น นี่เป็นมรดกของเจ้าคุณทวดโดยแท้ เพราะการข่าวของกองทัพไทยไม่เคยมีสมรรถภาพมาตั้งแต่ต้น

Advertisement

เพราะเราไม่แยกการข่าวของทหารออกจากการข่าวของรัฐ ทั้งๆ ที่การข่าวสองอย่างนี้ต่างกันทั้งจุดมุ่งหมาย, แหล่งข่าว, วิธีกรอง และการวิเคราะห์ ข่าวทหารมีจุดมุ่งหมายเพื่อการรบ ในปัจจุบันหรือในอนาคต แต่การข่าวที่รัฐหนึ่งๆ จำเป็นต้องมี ไม่ใช่เพื่อการสงคราม เท่ากับเพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงในระยะยาวของรัฐ จึงสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ, การตลาด, วิทยาการความรู้, การเมืองทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ฯลฯ

และเพราะไม่แยกหน้าที่กันเช่นนี้เอง ที่ทำให้การข่าวทั้งสองอย่างไม่เคยมีสมรรถภาพจริง กล่าวกันว่า เมื่อเวียดนามบุกและยึดกัมพูชาใน ค.ศ.1979 นั้น นอกจากรัฐบาลพนมเป็ญแทบไม่รู้ตัวมาก่อนแล้ว รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้ตัวมาก่อนเช่นกัน

วิธีคิดโบราณของกองทัพอีกอย่างหนึ่งคือ ศัตรูอยู่ภายในเสมอ นับตั้งแต่เราสร้างกองทัพสมัยใหม่ขึ้นใน ร.5 ผู้นำไทยก็ทราบดีอยู่แล้วว่า กองทัพไทยไม่มีสมรรถนะจะเอาชนะกองทัพของจักรวรรดินิยมตะวันตกซึ่งมีอาณานิคมอยู่รายรอบบ้านเราได้ ด้วยเหตุดังนั้น จึงวางภารกิจหลักของกองทัพไว้ที่การรักษาความมั่นคงภายใน สมัยเมื่อยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบอบนั้น ภารกิจทั้งหมดของกองทัพคือการปราบการแข็งข้อของคนข้างใน ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย, เจ้าเมืองที่สูญเสียอำนาจในการรวมศูนย์การปกครอง, อั้งยี่ซ่องโจร ซึ่งนายทุนท้องถิ่นสร้างขึ้นเพื่อต่อรองกับรัฐ ฯลฯ

หากไม่นับช่วงสั้นๆ ระหว่าง พ.ศ.2475-2490 ที่กองทัพกระทำภารกิจต่อสู้กับอริราชศัตรูภายนอก (ฝรั่งเศสในสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส, และร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อขยายดินแดนไปชิดฝั่งแม่น้ำสาละวิน) กองทัพก็ยังมองภารกิจหลักของตนเองเป็นการควบคุมคนภายในอยู่นั่นเอง และด้วยเหตุดังนั้น กลุ่มคนที่กองทัพเห็นว่าเป็นศัตรูของชาติจึงเป็นคนภายในทุกที ดังเช่นพรรคการเมืองที่ ผบ.ทบ.เห็นว่าอยู่เบื้องหลังวินาศกรรมและ “การโฆษณาชวนเชื่อ” ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อล้มล้างทั้ง “รัฐบาลพลเรือน” และราชบัลลังก์

การนำเอา “ศัตรูภายใน” ที่นึกเอาเองไปเปรียบกับ พคท. ยิ่งทำให้เห็นว่า ผบ.ทบ.ไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้วของปัจจุบันเอาเลย

โลกได้ผ่านพ้นยุคสมัยที่การปฏิวัติถูกปลุกเร้าและกำกับโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปแล้ว (ชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม) รัฐบาลของรัฐส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะได้อำนาจมาโดยชอบธรรมหรือไม่ มีกำลังเหนือประชาชนของตนเองอย่างเทียบกันไม่ได้ ปราศจากความช่วยเหลือด้วยกำลังทรัพย์และอาวุธอย่างต่อเนื่องยาวนานของมหาอำนาจต่างชาติ ยากนักที่องค์กรประชาชนใดจะสามารถเอาชนะรัฐบาลผู้คุมอำนาจในรัฐของตนไปได้

กรณี สปป.ลาวเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ฝ่ายต่อต้านซึ่งได้รับการอุดหนุนจากลาวอพยพและรัฐบาลต่างชาติ แต่ไม่ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอ ในที่สุดก็ไม่สามารถแม้แต่สั่นสะเทือนอำนาจของรัฐบาล สปป.ลาวได้ และในปัจจุบันรัฐบาล สปป.ลาวก็ไม่ต้องวิตกกังวลกับการแทรกแซงจากปรปักษ์และอำนาจต่างชาติเช่นนั้นอีก

แต่รัฐบาล ไม่ว่าจะได้อำนาจมาอย่างชอบธรรมหรือไม่ ก็อาจล้มลงได้ด้วยการจลาจลขนานใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นโดยขาดการจัดองค์กรอย่างรัดกุม ทั้งนี้เพราะเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างเครือข่ายของตนเอง และเชื่อมเครือข่ายระหว่างกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หากมีเงื่อนไขที่ทำให้คนจำนวนมากอยากเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายรัฐบาล หรือตัวรัฐบาลเอง กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นให้เห็นได้บ่อยครั้งทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา, เอเชีย, ลาตินอเมริกา, และบางส่วนของยุโรป

แต่จะเรียกการจลาจลเช่นนี้ว่าการปฏิวัติก็แปลกๆ อยู่ เพราะมักไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรมากไปกว่าการล้มรัฐบาล ซ้ำรายในบางกรณีหยุดการจลาจลไม่ได้ ทำให้เกิดความสูญเสียไม่สิ้นสุด ในบางกรณี กลับเปิดทางให้ระบอบเก่ากลับคืนอำนาจด้วยคนหน้าใหม่เท่านั้น

ความคิดว่ามีพรรคการเมืองควบคุมข้อมูลในสื่อโซเชียลได้แต่ผู้เดียว เหมือน พคท.คุมเนื้อหาของวิทยุเสียงประชาชน เกิดขึ้นได้ก็เพราะความไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นั่นเอง

การเปิดให้ประชาชน โดยเฉพาะในเขตเมือง ได้เข้าไปต่อรองนโยบายสาธารณะ มากบ้างน้อยบ้าง แม้เปิดให้ด้วยระบบที่ไม่น่ารักเช่นปัจจุบัน ก็มีส่วนอย่างมากในการให้ทางเลือกที่ไม่ใช่การปฏิวัติแก่ผู้คนส่วนใหญ่ อย่างน้อยผู้คนยังรู้สึกว่ามีช่องทางที่ปลอดภัยกว่าในการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์

อย่าลืมว่า การร่วมหรืออยู่ในพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองหลายอย่าง นับตั้งแต่ถูกตั้งข้อหาทางกฏหมายให้เดือดร้อน หรือถูกรอนสิทธิ หรือร้ายกว่านั้นอาจถูกอันธพาลการเมืองทำร้ายในที่สาธารณะหรือรโหฐาน โดยจับมือใครดมไม่ได้ ฉะนั้นจึงทำให้การสนับสนุนฝ่ายค้านอย่างเปิดเผยเช่นในสื่อโซเชียลไม่ปลอดภัยนัก เหลือที่ปลอดภัยอยู่ที่เดียวคือคูหาเลือกตั้ง

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่ ผบ.ทบ.ควรทำความเข้าใจด้วยก็คือ ในสมัยที่ พคท.ยังปฏิบัติการอยู่ไทยเป็นประเทศชนบท กล่าวคือประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ปัจจุบันไทยได้กลายเป็นประเทศเมืองไปแล้ว มานานพอสมควรด้วย หากมีการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธในเขตเมืองจริง ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยไม่มีทางจะปราบปรามได้ ไม่ต้องดูอื่นไกล กรณีความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งสืบเนื่องมา 18 ปีแล้ว และมีปฏิบัติการในเขตเมืองอย่างมาก รัฐไทยซึ่งใช้การทหารเป็นหลักในการต่อสู้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จจน
ถึงบัดนี้

ทั้งหมดนี้ ไม่ต้องการให้เข้าใจว่า ผบ.ทบ.ไม่มีภูมิปัญญาและความรู้เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ว่าใครดำรงตำแหน่งนี้ก็ไม่สู้จะต่างกันนัก กองทัพในฐานะสถาบันย่อมมีภูมิปัญญาของตนเองที่อาจสืบทอดมาแก่อนุชนรุ่นหลังได้ แต่กองทัพไทยขาดการจัดองค์กรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์-สังเคราะห์ความรู้อย่างเป็นระบบ ยิ่งกว่านั้น ขึ้นชื่อว่าภูมิปัญญาต้องเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ใช่มรดกของเจ้าคุณทวดทื่อๆ

ดังนั้นใครได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็น ผบ.เหล่าทัพ ก็กลายเป็นบุคคลรุ่นๆ ซึ่งขาดภูมิปัญญาของสถาบันหนุนอยู่ข้างหลัง เมื่อใดที่คิดจะแสดงภูมิปัญญา ก็มักจะเป็นภูมิปัญญากลวงๆ

สำหรับคนที่ยังเชื่อว่า กองทัพมีความสำคัญในการรักษาความมั่นคงของรัฐที่ไม่ใหญ่นักเช่นไทย สิ่งที่ขาดไปอย่างสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่มีสถาบันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งต้องมีความหมายกว้างกว่าการทหาร เพราะภัยคุกคามรัฐที่ไม่ใหญ่นักเช่นไทยในโลกปัจจุบันไม่ใช่สงครามอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของการรับมือกับอำนาจนานาชนิดนอกเหนือจากการทหาร ซึ่งมีลักษณะผันผวนและแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ความมั่นคงภายในก็ไม่ใช่เรื่องปราบ “กบฏ” หรือก่อการร้าย แต่เป็นเรื่องของมูลเหตุที่อยู่ลึกกว่าปรากฏการณ์การ
สู้รบ เช่นความเหลื่อมล้ำอย่างอุจาด, การศึกษาที่ล้าหลังอย่างหนัก, ความไม่แน่นอนจนคาดไม่ได้ของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

เราควรมีสถาบันวิจัยเพื่อความมั่นคง ซึ่งควรตั้งอยู่นอกกองทัพเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงศาสตร์นานาชนิดเข้าร่วมกัน ในการทำความเข้าใจปัญหาและทางออกเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้ที่ได้มาก็จะกระจายถึงสังคมในวงกว้าง รวมถึงกองทัพ, สภากลาโหม, คณะเสนาธิการผสม (ซึ่งควรทำให้เกิดขึ้นจริงเสียที), ครม., ฯลฯ ด้วย

สมมุติยอมรับว่า กองทัพควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ยังอยากเห็นกองทัพทำอย่างมีภูมิปัญญากว่านี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image