สะพานแห่งกาลเวลา : ขยะพลาสติก โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Mine Tekman Alfred-Wegener-Institut)

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่รายงานการศึกษาวิจัยทางวิชาการออกมา 2 ชิ้น ที่อ่านดูแล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าใดนัก

ชิ้นแรกเป็นรายงานผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน จากกระทรวงกิจการภายใน (ดีโอไอ) และสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสจีเอส) เป็นผลการสำรวจและวิเคราะห์ “น้ำฝน” ในเมืองเดนเวอร์ และเมืองบุลเดอร์ ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา

อีกชิ้น เป็นผลงานการสำรวจวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอัลเฟรด เวเกเนอร์ เพื่อการวิจัยทางทะเลและขั้วโลก (Alfred Wegener Institute for Polar and Marine Research) ในเมืองเบรเมนของประเทศเยอรมนี นำโดย เมลานี เเบร์กมันน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเลประจำสถาบันแห่งนี้

เเบร์กมันน์กับทีมเดินทางไปสำรวจในพื้นที่บริเวณหมู่เกาะห่างไกลไร้ผู้คนอาศัยอยู่ของประเทศนอร์เวย์ เรียกว่า หมู่เกาะสวัลบาร์ด

Advertisement

ทีมวิจัยดังกล่าวเดิมทีตั้งใจจะไปสำรวจเรื่องผลกระทบที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีต่อระบบนิเวศแบบขั้วโลกของทวีปอาร์กติก แต่เก็บตัวอย่างน้ำแข็งที่นั่นมามากมายหลายตัวอย่างพบเศษพลาสติกกระจายอยู่เต็มไปหมด

เพราะอยากรู้ว่าพลาสติกเหล่านั้นมาจากไหน มาได้อย่างไร แบร์กมันน์กับทีมเลยตัดสินใจเก็บตัวอย่าง “หิมะ” มาสำรวจ เปรียบเทียบกันระหว่าง หิมะที่
สวัลบาร์ด กับที่เทือกเขาแอลป์ ในสวิตเซอร์แลนด์ และที่เบรเมน มาเปรียบเทียบกัน

สิ่งที่แบร์กมันน์พบก็คือตัวอย่างหิมะในทั้ง 3 สถานที่เต็มไปด้วย “ไมโครพลาสติก” ขนาดแตกต่างกันเต็มไปหมด

Advertisement

แน่นอน ที่เทือกเขาแอลป์กับที่เบรเมน เมืองทางตอนเหนือของเยอรมนี ย่อมมีสัดส่วนของการปนเปื้อนมากกว่า เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งที่มาคือชุมชนของมนุษย์มากกว่า

แต่การพบไมโครพลาสติกที่สวัลบาร์ดก็มีอยู่ในสัดส่วนที่สูงมากผิดปกติ จนกลายเป็นปัญหาตามมาว่า เจ้าพลาสติกขนาดจิ๋วที่มีขนาดตั้งแต่เม็ดข้าวสารเรื่อยไปจนถึงขนาดเท่ากับไวรัส (คือมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) ในที่ห่างไกลไร้ผู้คนอย่างนั้นได้อย่างไร

ข้อสรุปของทีมวิจัยเยอรมันนี้ก็คือ ไมโครพลาสติกเหล่านี้หมุนเวียนอยู่ในชั้นบรรยากาศแล้วก็ถูกกระแสอากาศนำพาไปทั่วทั้งโลกแล้วตกกลับลงสู่พื้นดินในสภาพเป็นส่วนปนเปื้อนอย่างหนึ่งของหิมะนั่นเอง

นั่นทำให้การค้นพบ “ไมโครพลาสติก” ใน “90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำฝนที่เก็บมาเป็นตัวอย่าง” ในการสำรวจของทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่โคโลราโด เป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา

ทีมสำรวจอเมริกันพบว่าน้ำฝนเหล่านั้นมองด้วยตาเปล่าแล้วก็เหมือนน้ำฝนปกติ แต่พอส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเท่านั้นแหละ พบว่าภายในเต็มไปด้วยไมโครพลาสติกในรูปของเส้นใยหลากหลายสีสัน ทั้งน้ำเงิน, แดง, เงิน, ม่วง, เหลือง และอื่นๆ

งานวิจัยทั้งสองชิ้นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาขยะพลาสติกจากครัวเรือนของทุกๆ คนในขณะนี้แพร่ระบาดออกไปสร้างปัญหาใหญ่หลวงปกคลุมทั่วทั้งโลกได้อย่างไร

เพราะไมโครพลาสติกที่ว่านี้คือสภาพที่ย่อยสลายแล้วกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยของพลาสติกที่เดิมเคยคงสภาพเป็นแก้วน้ำ ขวดน้ำ เป็นถุง เป็นเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ทั้งหลายนั่นแหละครับ

ตอนนี้มหาสมุทรของเรามีพลาสติกล่องลอยอยู่นับล้านๆ ชิ้น ในแม่น้ำ ลำคลอง ท่อระบายน้ำ ก็เช่นเดียวกัน

ทุกชิ้นไม่ได้หายไปไหน เปลี่ยนรูปกลายเป็นไมโครพลาสติกมหาศาลเข้าไปอยู่กุ้งหอยปูปลา อยู่ในน้ำ เมื่อน้ำระเหย แห้งงวดลงก็ปลิวล่องลอยไปกับกระแสลม แล้วก็ตกลงมาเป็นหิมะ เป็นฝน

แล้วเราก็รองมาดื่มกิน จับปลา กุ้ง หอย มาเป็นอาหาร

นักวิทยาศาสตร์อเมริกันประเมินเอาไว้ว่า มนุษย์แต่ละคนในยามนี้ “กิน” พลาสติกในรูปของไมโครพลาสติกเหล่านี้ลงไปในร่างกาย 5 กรัมต่อคนต่อสัปดาห์

5 กรัม นั่นคือน้ำหนักของพลาสติกพอๆ กับเครดิตการ์ดในกระเป๋าเรา 1 ใบครับ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องนำเรื่องขยะพลาสติกไปคิดต่อให้ละเอียดแล้วเริ่มต้นช่วยกันคนละไม้คนมือ

ลด ละ หรือเลิกได้ก็ยิ่งดี จะได้ไม่ต้องกินเครดิตการ์ดเป็นอาหารกันไงครับ!

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image