เดินหน้าชน : เลี้ยงไข้ศก.? โดย สุพัด ทีปะลา

เป็นไปตามคาดกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจหรือ “ครม.เศรษฐกิจ” ซึ่งมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมนัดแรกได้เห็นชอบ

เป้าหลักๆ ของการอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3%

ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยทั้งของไทยเองและเศรษฐกิจโลกเอง

มี 3 มาตรการที่สำคัญ 1.มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคนจะได้รับเงินเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน กลุ่มผู้สูงอายุจะได้รับเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน และกลุ่มผู้เลี้ยงดูบุตร ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท รวม 600 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

Advertisement

2.มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลจะสนับสนุนประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปให้ใช้จ่ายข้ามจังหวัด รายละ 1,000 บาท วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

3.มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ การปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสีย จากผลกระทบภัยแล้ง และขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส.

กระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้เป็นมาตรการแรกของรัฐบาล“บิ๊กตู่2/1”

Advertisement

หลายฝ่ายจับตามองว่ามาตรการที่ออกมาจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน หรือเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น

ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก มาตรการแจกเงิน 1,000 บาทให้คนไปเที่ยว จะคุ้มค่าหรือไม่กับเม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากแหล่งรายได้หลักของการท่องเที่ยวไทยอยู่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ การแจกเงินไปเที่ยวจึงเป็นแค่การแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

มาตรการนี้สมัย รมว.คลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ได้เตรียมเสนอรัฐบาล คสช.บิ๊กตู่ เห็นชอบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงกลางปีนี้

แต่สุดท้ายก็ต้องชะลอออกไปโดยอดีต รมว.คลังให้เหตุผลว่า “มาตรการแจกเงินให้คนละ 1,500 บาท จำนวน 10 ล้านคน เพื่อไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อีเพย์เมนต์ในเมืองรอง 55 จังหวัดแล้ว เมื่อศึกษาอย่างละเอียดแล้วพบว่าโครงการนี้อาจไม่คุ้มค่าได้”

ส่วน ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ไม่เห็นด้วยกับมาตรการแจกเงินเที่ยว ว่า ความคิดที่จะเอาเงินไปแจกให้คนไปเที่ยว ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาได้ภายใน 2 เดือนจริงแล้วไซร้ ป่านนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยคงรุ่งเรืองมานานแล้ว เพราะเราได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้ มาหลายปีแล้ว และใช้เงินไปแล้วหลายแสนล้านบาท แล้วผลเป็นไงละคนจนเกือบหมดทั้งประเทศแล้วหรือยัง

ขณะที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นครั้งๆ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจหมดแรงก็กระตุ้น มีแรงได้ไม่กี่เดือนก็ฟุบอีก แล้วก็ต้องกระตุ้นกันใหม่ เป็นวัฏจักรที่ไม่ถูกต้องและอันตราย แนวทางการบริหารเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้งบประมาณจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้กับมาตรการแบบชั่วคราว ไร้การกำหนดทิศทางประเทศในระยะยาว ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างและทิศทางหลักของประเทศถูกละเลย หากพื้นฐานประเทศไม่ได้ถูกพัฒนา อีกไม่นานภาระทางการคลังจะเป็นข้อจำกัดสำหรับมาตรการกระตุ้นรอบใหม่

แม้การอัดฉีดเงิน 3.16 แสนล้านสู่ระบบเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะที่รัฐบาลต้องทุ่มสุดตัว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอด จากเอฟเฟ็กต์ของเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่กระทบภาคส่งออก ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท

แต่ก็เกิดคำถามว่ามาตรการเหล่านี้จะคุ้มค่าหรือไม่ หรือเป็นแค่การอัดฉีดเงินเลี้ยงไข้เศรษฐกิจเท่านั้น

เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช.ที่อัดฉีดเงินไปมหาศาลหลายแสนล้าน เราได้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สวยหรู แต่สวนทางกับปากท้องของประชาชน

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image