09.00 : INDEX ลีลา การบริหาร ความเสี่ยง ศึกษา ถวายสัตย์ ปฏิญาณ

การที่กรณี ถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ได้กลายเป็นเรื่องบานปลายกระทั่งนำไปสู่ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ

ได้กลายเป็น “กรณีศึกษา” อันแหลมคมและร้อนแรงเป็นลำดับในทางการเมือง

สะท้อนกระบวนการบริหารจัดการที่แปลกประหลาด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็รู้ตั้งแต่คนควัก “กระดาษ” ออกจากกระเป๋าแล้วว่าเป็นความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนจากรายละเอียดตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เหตุใดไม่หาทางแก้ไขอย่างน้อยก็อีก 2-3 วันภายหลังวันที่ 16 กรกฎาคม เพื่อทำสิ่งที่ “ผิด” ให้ “ถูก”

เหตุใดจึงปล่อยให้ยืดเยื้อ เรื้อรังจนถึงเดือนสิงหาคม

ต้องยอมรับ ว่าการทักท้วงและทวงถามเรื่องนี้ของฝ่ายค้านไม่ว่าจะโดยการหารือในที่ประชุมรัฐสภาของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เป็นความปรารถนาดี

ถามว่าเหตุใดจึงไม่สามารถยุติความผิดพลาดลงได้

คำตอบเห็นได้ชัดจาก 1 การประท้วงและไม่ยอมให้มีการหารือเรื่องนี้อย่างครบถ้วนจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ 1 การไม่ยอมตอบข้อสงสัยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยระบุในการแถลงก่อนปิดการประชุมว่า จะไม่ขอตอบในเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนอีกแล้ว

ความเป็นจริงก็คือ ไม่สามารถ “จบ” ลงได้

ที่ไม่สามารถจบลงได้เพราะเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนได้กลายเป็นความข้องใจในระดับสังคม และที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาแถลง “ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ที่น่าประหลาดก็คือ เป็นการรับผิดแต่มิได้มีการกระทำเพื่อแก้สิ่งที่ผิดให้มีความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ในที่สุดเรื่องก็ถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

จากวันที่ 16 กรกฎาคม มาถึงวันที่ 16 สิงหาคมที่มีการยื่นญัติตามมาตรา 152 เป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆที่ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบอะไรเลยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งๆที่เป็นการกระทำอันยืนยันความผิดพลาดอย่างเป็นที่ประจักษ์

ในที่สุดแล้วกรณีนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงไม่เพียงแต่ในด้านความโปร่งใสหากสัมพันธ์กับหลักธรรมาภิบาลอย่างแนบแน่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image