สถานีคิดเลขที่ 12 : ตราบใดที่ยังมีสภาฯ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ช่วงท้ายการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม มีดีเบตน่าสนใจหัวข้อหนึ่ง ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือติดตามรับฟัง-รับชมเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของข้อถกเถียงดังกล่าว

ระหว่างการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ในส่วนคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ

2 ส.ส.อนาคตใหม่ คือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ได้ขอแปรญัตติ โดยเสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมาธิการด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ”

แยกออกมาจาก “คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ตามการยกร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม

Advertisement

ส.ส.บัญชีรายชื่อคู่นี้ อภิปรายให้เหตุผลว่ากลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียสิทธิหลายประการ และความไม่เข้าใจ-ไม่เปิดรับของสังคม

หลายคนที่นั่งดู-ฟังการประชุมช่วงนั้น อาจสะดุดกับวรรคทองของธัญญ์วารินที่กล่าวว่า “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยนั้น ถูกโกงความเป็นมนุษย์และฆ่าตัดตอนความฝัน”

แม้บางคนอาจมองว่านี่เป็นข้อเรียกร้องที่เกินเลยไปหรือไม่ และอาจขัดใจกับการแต่งกาย-การพูดจาที่สวนทางกับเพศกำเนิดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองราย

Advertisement

แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง นี่ก็ไม่ใช่กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอันแข็งกร้าว หากเป็นการทดลอง “ขยับเพดาน” สังคม เมื่อมีโอกาส

การทดลองนี้ได้รับฟีดแบ๊กที่หลากหลายและชวนคิดต่อไม่น้อย

กรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นสนับสนุนการต่อสู้ของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ด้วยหลักคิดที่ว่าแม้สังคมไทยคล้ายจะเปิดกว้างต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในทางวัฒนธรรม แต่กลไกทางข้อกฎหมายกลับยังปิดกั้นความหลากหลายดังกล่าว

ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ กรรมาธิการวิสามัญร่างข้อบังคับการประชุมฯ ผู้สงวนความเห็นให้ตัดข้อความเกี่ยวกับ “ความหลากหลายทางเพศ” ออก

อธิบายเหตุผลว่าตนเองเคารพหลักการความเท่าเทียมและมิได้คัดค้านข้อเสนอของเพื่อนสมาชิก แต่โดยส่วนตัว มีความจำเป็นจะต้องแสดงความเห็นต่างในเรื่องนี้ เพราะยึดถือหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลาม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการวิสามัญร่างข้อบังคับการประชุมฯ แสดงความเข้าใจต่อสภาพปัญหาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ แต่มองว่าในทางปฏิบัติ การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพิ่มอีกหนึ่งชุด จะส่งผลให้ขั้นตอนการทำงานในสภาติดขัดได้

ส.ส.เพื่อไทย ยังแสดงความกังวลในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเกี่ยวกับ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” แยกออกไปต่างหาก

ประเด็นนี้จะกระทบกระเทือนสิทธิและความเท่าเทียมของบุคคลพิเศษกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มผู้สูงอายุ หรือไม่? อย่างไร?

พ้นจากประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ

การดีเบตในช่วงเย็นวันที่ 15 สิงหาคม ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่า “สภาผู้แทนราษฎร” คือ สนามอันกว้างขวางที่เปิดรับความแตกต่างหลากหลายทางแนวคิด-ความเชื่อ และตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่สลับซับซ้อนในสังคม

ในบางคราว ข้อถกเถียงว่าด้วยความหลากหลายบางเรื่อง ก็อาจตัดข้ามเส้นแบ่งทางการเมือง ระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” ดังกรณีข้างต้น

คุณประโยชน์แท้จริงของสภาผู้แทนฯ คือ การเปิดโอกาสให้มีการทดลอง “ขยับเพดาน” ทางสังคมในบางมิติ แต่ปิดโอกาสต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีลักษณะ “ถอนรากถอนโคน”

เพราะสุดท้ายแล้ว การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งหลาย ก็ย่อมจะต้องถูกตบแต่งขัดเกลาโดยเพื่อนสมาชิก (ไม่ว่าฝ่ายไหน)

สังคมไทยจึงไม่จำเป็นต้องตื่นกลัวนักการเมืองกลุ่มใหม่ๆ หรือไม่ต้องวิตกว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขั้นรุนแรงต่างๆ

ตราบใดที่เรายังมีสภาผู้แทนราษฎร

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image