‘กองทุนสุขภาพตำบล’ กลไกกระจายอำนาจ ดึง ‘ท้องถิ่น’ ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน

จากอดีตถึงปัจจุบันแนวทางการพัฒนาประเทศจะถูกกำหนดนโยบายจากบนสู่ล่าง แม้ว่าจะเป็นข้อดีในการบริหารเพื่อให้ทั้งประเทศก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่าเป็นระดับมหภาค แต่ที่ยังขาดไปคือการนำเสนอนโยบายจากล่างสู่บน เป็นระดับจุลภาคที่เป็นส่วนที่ต้องเข้ามาช่วยเสริม ซึ่งแนวทางนี้ตรงกับการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมบริหารในฐานะเจ้าของพื้นที่ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้ภาพรวมนโยบายต่างๆ จากรัฐบาลดำเนินไปอย่างสมบูรณ์

“กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ได้จัดตั้งขึ้นตาม มาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อเป็นกลไกดึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนช่วยเสริมในการจัดบริการสุขภาพด้วยรูปแบบต่างๆ นอกจากบริการสุขภาพหลักที่มีสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเป็นผู้ให้บริการ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถดูแลและพึ่งตนเองในด้านสุขภาพได้

เมื่อพูดถึง “สุขภาพ” นั้น ยังมีมิติอื่นที่มากกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นต้น ซึ่งการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น โดยหน่วยบริการได้ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนได้อย่างมืออาชีพแล้ว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 80 เป็นเรื่องปัจจัยสุขภาพอื่นที่เกี่ยวข้องกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงความรู้ของประชาชน เป็นมิติที่ยังขาดการส่งเสริม ผู้ที่จะช่วยอุดช่องว่าง

และทำหน้าที่นี้ได้ดีคือ “ท้องถิ่น” เพราะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากประชาชนให้ทำงานในพื้นที่ ทำให้นอกจากรู้ปัญหาของพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว ยังรู้ถึงความต้องการของชาวบ้าน มีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้สามารถจัดกิจกรรมสุขภาพต่างๆ ที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อกองทุนสุขภาพตำบลได้กระจายให้กับท้องถิ่นแล้ว ปัจจุบันมีท้องถิ่นจำนวน 7,736 แห่งที่เข้าร่วม นั่นหมายถึงงบประมาณย่อมต้องถูกกระจายไปด้วย เพื่อให้กิจกรรมสุขภาพภายใต้กองทุนบรรลุเจตนารมณ์ ทั้งทำให้การเปลี่ยนผ่านงานด้านสุขภาพไปยังท้องถิ่นเดินไปได้อย่างมั่นคง เกิดการทำงานที่มากกว่าสุขภาพ คือการมี “สุขภาวะ” ที่ดี ทำให้ต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนการดำเนินการกองทุนสุขภาพตำบล จำนวน 45 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ และท้องถิ่นที่เข้าร่วมต้องร่วมสมทบงบประมาณตามประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบันกองทุนสุขภาพตำบลมีงบประมาณปีละกว่า 3,500 ล้านบาท การบริหารอยู่ภายใต้ท้องถิ่นในรูปแบบคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่ในการรับฟังความเห็น จัดทำยุทธศาสตร์แผนแม่บทและพิจารณาโครงการสุขภาพต่างๆ ที่นำเสนอจากบุคลากรสุขภาพและประชาชน เพื่อดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่

ตลอดระยะเวลา 13 ปี ของกองทุนสุขภาพตำบลทำให้เกิดโครงการดีๆ มากมายที่ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน ท้องถิ่นหลายแห่งมีโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการศูนย์เด็กเล็ก โครงการป้องกันท้องก่อนวัยอันควร โครงการมหัศจรรย์พันวันเพื่อพัฒนาการทารกตั้งแต่ในครรภ์ โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ และโครงการอนามัยโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สนับสนุนนโยบายภาครัฐ

ในส่วนการจัดสรรงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล ร้อยละ 70 ใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นหัวใจสำคัญของกองทุน มุ่งลดความเจ็บป่วยทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อุดช่องว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ส่วนอีกร้อยละ 30 เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดช่วยสนับสนุนรายละ 5,000 บาท ปัจจุบันมีผู้ที่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในระบบราว 2 แสนคน เน้นการดูแลด้วยการจัดบริการในรูปแบบใหม่คือ “เตียงผู้ป่วยที่ดีที่สุดคือเตียงที่บ้าน โรงพยาบาลที่ดีที่สุดคือบ้านผู้ป่วยเอง” เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว ทำให้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องนอนที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน

ขณะที่การรักษาพยาบาลมีเพียงร้อยละ 5 ของกองทุน เป็นการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และในปีนี้ตามที่ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ประกาศบังคับใช้ยังมีส่วนสอดรับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังท้องถิ่น ภารกิจด้านการรักษาพยาบาลของท้องถิ่นจึงถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ปัจจุบันมีท้องถิ่นหลายแห่งที่มีแพทย์ประจำอยู่ในตำบล หลายแห่งมีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง อย่างที่เทศบาลเมืองบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และเทศบาลนครภูเก็ต เป็นต้น ทั้งมีการเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการรักษาแบบไร้รอยต่อ

การกระจายอำนาจสำคัญที่สุดอยู่ที่วิธีการ สปสช.เลือกดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลด้วยวิธีการกระจายอำนาจแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการกำหนดกรอบงานกองทุนที่ชัดเจน การลงขันงบประมาณกองทุนฯ ระหว่าง สปสช.และท้องถิ่นโดยสมัครใจ บริหารกองทุนฯ โดยคณะกรรมการร่วมที่นำไปสู่การเรียนรู้ ตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการบนฐานความรู้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้งบประมาณ โดย สปสช.รับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับท้องถิ่น จัดทำกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เอื้อต่อการดำเนินงานกองทุนฯ พร้อมสนับสนุนงานวิชาการต่างๆ อย่างการจัดอบรมท้องถิ่นและภาคประชาชนในการจัดทำโครงการสุขภาพ ที่ก่อให้เกิดโครงการคุณภาพและหลายโครงการเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นรากฐานนำพาประเทศสู่ความมั่นคง

การบริหารประเทศในอนาคตนั้น ท้องถิ่นจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญของการพัฒนาเทียบเท่ากับกระทรวง ทบวง กรม โดยกองทุนสุขภาพตำบลวันนี้ได้กลายเป็นช่องทางหนึ่งของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ และเป็นตัวอย่างของผลสัมฤทธิ์ที่บริหารจัดการโดยท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ให้กับภาครัฐในการดูแลประชาชนในด้านสุขภาพ แต่ได้สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้ระบบสุขภาพประเทศมีความยั่งยืน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image