‘อนุทิน’ผลักดัน “Telemedicine” มั่นใจช่วยคนชนบท-ลดแออัดของรพ.

‘อนุทิน’ผลักดัน “Telemedicine” มั่นใจช่วยคนชนบท-ลดแออัดของรพ. ‘โฆษกภท.’ เผยนำร่องโครงการแล้ว 8 จังหวัด ใช้ความรู้ดิจิทัลช่วยงานเต็มที่

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.)ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จ.นครราชสีมาเมื่อช่วงวัดหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการแก้ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ให้เข้ามาช่วยงานในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข คือการปฏิรูประบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบโทรเวชกรรม หรือ “Telemedicine” เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันปัญหาของระบบสาธารณสุขของไทย คือเรามีผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์จะต้องรับงานหนักเกินความจำเป็น และใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น รวมไปถึงการเดินทางทำให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ และไทยก็เป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อประชากรที่สูงมาก คือแพทย์ 1คน ต่อ ประชากร 2,065 คน ขณะที่ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 439 คน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท “Telemedicine” เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบทผ่านโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ซึ่งผู้ป่วยเหมือนได้เดินทางไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยตัวเอง ทำให้ได้รับคำปรึกษาได้อย่างทันเวลา และยังช่วยลดความแออัดของจำนวนคนไข้ ลดภาระของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง ซึ่งระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางเพื่อรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรค ระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล เป็นต้น ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามกรอบความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในระยะเริ่มต้น 8 จังหวัด และในอนาคตจะขยายไปสู่พื้นที่ชนบทอื่นทั่วประเทศ

“ผมเคยผ่านงานระดับชาติมาบ้าง แต่ยังรู้สึกกดดันอยู่บ้าง เพราะโครงการนี้เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในชนบท และเป็นการช่วยเหลือโรงพยาบาล ช่วยเหลือแพทย์ด้วย แต่ยังรู้สึกภูมิใจมากกว่าที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของพรรค ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านหัวหน้าพรรคที่ให้ความไว้วางใจ ให้ตนได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลืองานจะใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จให้ได้”พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image