‘เฉลิมชัย’ สั่งการด่วนให้กรมชลฯ ลดระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ลงอีก แจ้งผู้ว่าฯ 6 จังหวัดภาคกลางรับมือสถานกรณ์น้ำน้อย

วันที่ 25 สิงหาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในกรณีน้ำน้อยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลัก 4 แห่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานว่า ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ จะลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ลงอีก จากปัจจุบันเขื่อนภูมิพลระบายวันละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตรจะลดลงเหลือ 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นในวันที่ 2 กันยายนจะลดลงอีกครั้งเหลือวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ปัจจุบันระบายวันละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนปัจจุบันระบายวันละ 860,000 ลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 430,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คงการระบายที่ 430,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ล่าสุดกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อุทัยธานี และพระนครศรีอยุธยา เพื่อแจ้งการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิรกิติ์ ซึ่งมีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 แล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนและให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง แพสูบน้ำ เป็นต้น

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำอยู่ที่ 15.73 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้ในลุ่มน้ำยมไหลลงมาผ่านจังหวัดนครสวรรค์ และต่อเนื่องมาถึงเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น การที่ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงกว่า 15 เมตร ทำให้สามารถทดน้ำเข้าแม่น้ำและคลองสายต่างๆ ในระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวก สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรที่ก่อนหน้านี้ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงได้อย่างทั่วถึง จนนาข้าวฟื้นตัวดี สามารถส่งน้ำให้จนกระทั่งเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งหมด แต่ต้องงดทำนาต่อเนื่องอย่างเด็ดขาด

Advertisement

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขอความร่วมมืองดทำนาต่อเนื่อง อีกทั้งให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบว่า ในฤดูแล้งนี้กรมชลประทานงดส่งน้ำเพื่อการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา หากเกษตรกรยังฝืนปลูกแล้วได้รับความเสียหาย จะไม่ได้รับการชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำน้อยที่วางไว้ จะเน้นการส่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ เชื่อมั่นว่า น้ำจะมีเพียงพอใช้ตลอดจนสิ้นสุดฤดูแล้ง ปี 2562/63 อีกทั้งกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ๊กโฮ และรถบรรทุกน้ำประจำทุกพื้นที่เสี่ยงแล้ว สามารถเข้าแก้ไขและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้ทันทีและทั่วถึง” นายเฉลิมชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image